วันที่ 10 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา Connect the dots อีเวนต์สัมมนาทางการเงินที่น่าสนใจและเรียกได้ว่าแปลกใหม่อยู่ไม่น้อย อย่าง “Play to Win สังเวียนชีวิตที่แพ้ไม่ได้”
ที่ได้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ XSpring, ONE Championship และสนามมวยเวทีลุมพินี ร่วมกับ Connect the Dots
พาคู่เดือดวงการมวยอย่าง รถถัง จิตรเมืองนนท์ และ ซุปเปอร์เล็ก เกียรติหมู่ 9 ที่เพิ่งซัดกันไปหมาด ๆ บนเวทีลุมพินี
มาเจอกับคนกีฬาแถวหน้าอย่าง เจ วรปัฐ อรุณภักดี ผู้ประกาศข่าวและนักพากย์กีฬาจากไทยรัฐทีวี และ ลีซอ ธีรเทพ วิโนทัย อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย
มาพูดคุยเรื่องที่เป็นเหมือนจุดอ่อนของนักกีฬาอย่างการบริหารจัดการเงิน โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมาให้คำแนะนำอย่าง โค้ชเป๊ก ปุณยวีร์ จันทรขจร Money Coach และ Full Time Trader พร้อมกับ ยศกร ฟอลเล็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด
ในทอล์กที่เหล่านักกีฬา คนวงการกีฬา และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินได้มาร่วมพูดคุยกันบนเวทีมวย ไม่ใช่ภาพที่คุ้นตาหรือเห็นได้บ่อยนัก งานนี้เหมือนการเปิดมุมมองด้านการเงินของอาชีพนักกีฬาที่มากกว่าเรื่องรายได้ แบบที่ไม่เคยพูดถึงมาก่อน
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่านักกีฬาเป็นหนึ่งอาชีพที่สามารถสร้างรายได้มหาศาล และสร้างความสำเร็จในวงการให้กับคนที่ทุ่มเท นักมวยก็เช่นเดียวกัน
แต่มันไม่ได้จบแค่นั้น พออยู่นอกสังเวียนแล้ว พอไม่ได้ชกแล้ว มันคือสนามของชีวิตจริง ที่จะแพ้ไม่ได้
หลายต่อหลายครั้งที่เราต้องเห็นนักกีฬามืออาชีพ นักชกระดับตำนานที่ลาวงการไปแล้วไม่สามารถต่อยอดอาชีพได้และต้องอยู่อย่างลำบาก เพราะขาดการวางแผนด้านการเงินที่ดี ซึ่งเป็นจุดอ่อนของนักกีฬาจำนวนมาก
ทำให้นักกีฬา โดยเฉพาะนักมวย มักถูกเรียกว่าเป็น “หมาล่าเนื้อ” เพราะต้องชกแลกเงิน ถ้าไม่ชกก็หาเงินไม่ได้ นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกหยิบมาพูดคุยกันในทอล์กนี้
ความล้มเหลวด้านการเงิน…
ในช่วงแรกคุณเจ วรปัฐ ได้ถามถึงเรื่องราวของแต่ละคนในวันที่เริ่มแข่งเริ่มชกแล้วไม่เหลือเก็บ จนวันที่เริ่มวางแผนการเงิน
รถถังเล่าถึงความล้มเหลวทางการเงินของเขาครั้งหนึ่งคือ
“การที่เราเคยจน พอเรามามีมันเป็นเรื่องการใช้จ่ายมากกว่า ใช้เกิน อยากได้นู่นอยากได้นี่ จนมันเผาผลาญเงินมาก อยากได้สิ่งที่มันไร้ค่ามาก ๆ เราก็อยากได้ มันก็หมดไปโดยปริยาย”
แต่พอหลังจากที่เริ่มคิดได้ รถถังก็หันหน้าเข้าหาครอบครัวก่อน เก็บออมเพิ่มครอบครัวมากขึ้น รู้ตัวว่า
“อาชีพมวยของเราวันหนึ่งก็ต้องจบลง ถ้าจบแบบไม่มีอะไรเลย สิ่งที่ทำมามันเหนื่อยเจ็บตัวฟรี”
และได้เริ่มเก็บเงินซื้อที่เอาไว้เผื่อเอาไปต่อยอดทำอะไรที่สามารถไปต่อได้
ทางซุปเปอร์เล็กก็เล่าว่าความล้มเหลวทางการเงินของเขาคือช่วงโควิด ที่ก่อนหน้านั้นเขาไม่ได้คิดอะไรเรื่องการเงินเลย
“เพราะนักมวยไม่ได้มีเงินเดือน ถ้าไม่ชกก็ไม่ได้มีเงินมาจุนเจือครอบครัว”
เป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน จนต้องไปยืมมาใช้จ่าย พอได้ค่าชกกลับมาก็ไม่คุ้ม เพราะต้องคอยจ่ายดอกเบี้ยของเงินที่ยืมมา
ส่วนลีซอ เล่าย้อนไปถึงสมัยวัยรุ่นที่เริ่มเตะแรก ๆ ว่าโชคดีที่ให้แม่เป็นคนดูแลเรื่องการเงินทั้งหมด “ผมมีหน้าที่หาและใช้” แต่มาล้มเหลวเอาช่วงหลังที่เริ่มลงทุนธุรกิจบ้าง
ซึ่งก็ลงทุนมาตั้งแต่ธุรกิจสื่อ ร้านก๋วยเตี๋ยว อาหารเสริมผู้ชาย และธุรกิจย่อย ๆ อีกสองสามอย่าง
“เราทำไปด้วยความประสบการณ์น้อย ไม่ได้มีความรู้มาก แต่ว่าอยากลงทุน ก็เป็นการลงที่ได้ประสบการณ์มหาศาล แต่เงินก็หายไปจำนวนหนึ่งเหมือนกัน”
และยังได้เสริมที่ตนเคยพลาดเรื่องภาษีจากความผิดพลาดเรื่องสัญญา ไม่ได้ตรวจสอบเรื่องสัญญาให้ดีว่าสโมสรจ่ายภาษีให้กี่เปอร์เซ็นต์ ทำให้โดนภาษีย้อนหลัง 2 ล้านกว่าบาทเลย
ผ่านจุดนั้นมาแล้ว วันนี้ได้เงินหลักล้านจะเอาไปต่อยอดอะไร?
แม้ว่าเคยผ่านช่วงที่ประสบความลำบากด้านการเงินกันมาแล้ว แต่ในวันนี้ทั้งรถถังและซุปเปอร์เล็ก ต่างก็เติบโตขึ้นยืนหยัดแถวหน้าของวงการมวยไทย และรับค่าตัวต่อไฟต์กันเป็นล้านแล้ว กลายเป็นเรื่องสำคัญที่การจัดการการเงินของพวกเขาจะต้องเปลี่ยนไป รวมถึงลีซอที่ดูจะเติบโตนอกวงการฟุตบอลได้ดีแล้วด้วย
รถถังบอกว่า
“ผมจะดูแลครอบครัวเป็นหลักครับ เพราะผมมีพี่น้องสิบคนแล้วฐานะทางบ้านยากจนมาก
เมื่อก่อนแม่ต้องลำบากทำทุกอย่างมาเลี้ยงลูก
พอผมมีรายได้เยอะผมไม่เห็นแก่ตัว ทุกคนอาจจะต้องเอาตัวเองก่อน แต่ผมเป็นคนที่มีวันไหนผมอยากให้ครอบครัวมีไปพร้อมกับผม”
และกล่าวถึงการต่อยอดว่าพอได้ค่าตัว 10 ล้าน “หลัก ๆ ก็ไปซื้อที่มา เผื่อไว้ทำค่าย”
ทางซุปเปอร์เล็กเองก็เล่าว่า “ตั้งแต่เข้ามาชกที่ One Championship ก็เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองเยอะมาก” หลังจากได้จับเงินล้านก็เอามาดูแลชีวิตดูแลครอบครัว สร้างบ้านให้ตัวเองให้แม่ ต่อยอดด้วยการสอนมวยตามที่ตัวเองชอบ
ลีซอที่แขวนสตั๊ดมาพักใหญ่แล้ว บอกว่ายากจะหันมาทำงาน ต่อยอดวงการกีฬาให้ดีขึ้น
“ส่วนที่เรารู้ก็อาจจะแชร์ได้บ้าง ก็อยากจะทำงานด้านบริหารสมาคมฟุตบอลถ้าเป็นไปได้”
อีกอย่างคืออยากต่อยอดธุรกิจวงการกีฬาให้ไปได้ไกลขึ้น แต่ก็เตือนทุกคนที่อยากจะทำธุรกิจให้ระวังคนใกล้ตัว อย่าไว้ใจเกินไป ตัวเองโดนมาแล้ว “
ก็โดนเยอะอยู่ ได้รถซูเปอร์คาร์คันหนึ่งได้เลยที่ผมโดนไป ไม่ใช่ว่าผมโง่นะ แต่ผมแค่ไว้ใจเขาไง”
แขวนนวมแล้ว ทำอะไรต่อ?
รถถังได้เล่าถึงแผนว่า “ปีหน้าอาจจะเปิดวิลล่าทุ่งนา เป็นที่พักที่ให้คนมาพัก และมีค่ายมวยอยู่ตรงนั้นด้วย มีทุกอย่างที่เป็นแบรนด์ของตัวเองที่ทำขาย” ภายใต้ที่ดิน 18 ไร่ที่กำลังเจรจาซื้อขายอยู่ เป็นหนึ่งไอเดียที่น่าติดตามมาก ๆ ว่าวิลล่าที่ว่าของรถถังจะออกมาเป็นแบบไหน
ส่วนซูเปอร์เล็กเอง นอกจากยิมมวยแล้ว ก็มีการวางแผนพูดคุยเรื่องที่ทำเลดี เรื่องคอนโด อาจจะซื้อไว้แล้วปล่อยเช่า โดยได้เริ่มพูดคุยไปแล้วเหมือนกัน
งานนี้เมื่อเหล่านักชกต่างมีความใฝ่ฝัน แต่จุดอ่อนด้านการบริหารเงินยังเป็นอุปสรรคขวางกั้น 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอย่างโค้ชเป๊ก และคุณยศกร จึงมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำในการจัดการเงินกับคู่เดือดและรวมถึงนักชกนักกีฬาอื่น ๆ
ทำไมต้องวางแผนการเงิน?
เมื่อถามว่าทำไมต้องบริหารจัดการการเงิน โค้ชเป๊กกล่าวว่า
“เรื่องเงินคือปัญหาของทุกเพศทุกวัยที่ยังจัดการกันไม่จบ อายุยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ โจทย์การเงินจะยากขึ้นเรื่อย ๆ”
และยังชี้ความสำคัญว่า
“ปัญหาหลายด้านของชีวิตใช้เงินแก้ปัญหาได้หมดเลย และคนที่ไม่ได้วางแผนเรื่องเงิน ปัญหาจะยิ่งรุนแรงขึ้น”
อีกอย่างคือ ระยะเวลาที่จำกัดของอายุงาน นักกีฬาอาจมีตั้งแต่ 10-15 ปี นักมวยอาจน้อยกว่านั้นเพราะใช้ร่างกายหนักมาก
และการเป็นหมาล่าเนื้อทำให้รายได้ไม่แน่นอน ความมั่นคงในชีวิตหายไป โจทย์อีกอย่างที่สำคัญคือ
“ในวันที่เราหาเงินไม่ได้ เราจะเอาเงินจากไหน”
คุณยศกรได้เสริมว่า การวางแผนทางการเงินอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญเพราะจะสามารถช่วยลดช่องว่างรวย-จนได้
รวมถึงการที่แต่ละอาชีพมีระยะเวลาการทำงานต่างกัน การวางแผนตั้งแต่อายุน้อย ๆ จึงสำคัญ เพราะ
“ดอกเบี้ยทบต้นคือสิ่งที่วิเศษที่สุดในโลก ถ้าเราลงทุนแล้วได้ดอกเบี้ยทบต้น ชีวิตความเป็นอยู่ของเราจะดีขึ้น แต่กลับกันถ้าเรากู้หนี้ยืมสิน ดอกเบี้ยทบต้นเป็นอันตรายต่อเราพอสมควรเลย”
ทำอย่างไรให้มีเงินสำรอง?
โค้ชเป๊กแนะนำว่ามองง่าย ๆ คือแบ่งเงินเป็นสองก้อนใหญ่ ๆ
ก้อนแรกคือเงินที่ทำให้เรารอด คือเงินออมเงินเก็บต่าง ๆ นอกจากทำให้ความมั่งคั่งเราสูงขึ้น ยังทำให้เรารู้สึกปลอดภัย โดยได้ยกตัวอย่างว่า “ช่วงโควิด ใครเละไม่เละอยู่ที่มีเงินออมเยอะแค่ไหน” ควรมีเก็บล่วงหน้าไว้ตามความเหมาะสม 12 เดือน 24 เดือน 32 เดือนก็แล้วแต่ เก็บไว้เพื่อความปลอดภัย
อีกก้อนคือเงินใช้จ่าย เดือนหนึ่งเราใช้เท่าไร รวมถึงเงินใช้หนี้ด้วย
พร้อมทั้งชี้มุมมองว่าการเงินเป็นเรื่องของตัวเลขครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งคือเรื่องของนิสัย
ออมสำคัญที่สุดไหม ใช้ซื้อความสุขได้หรือเปล่า?
โค้ชเป๊กเองก็ตอบด้วยความเข้าใจดีว่า
“คนเราต้องการของรางวัล มันเป็นเรื่องจำเป็นอยู่แล้วในการหล่อเลี้ยงจิตใจ”
เรื่องสำคัญจึงอยู่ที่การแบ่งเงินให้ดีตั้งแต่แรก
“การออมวันนี้มันทำให้เราสบายวันหน้าก็จริง แต่ถ้าเราเอาอนาคตมาเบียดเบียนปัจจุบันมากเกินไปมันจะทำให้เราเป๋”
เพราะฉะนั้นควรแบ่งเงินออม เงินใช้ให้ดี รวมถึงเงินลงทุนด้วย
นักกีฬากับการลงทุน
โค้ชเป๊กพูดถึงประเภทหลัก ๆ ของการลงทุนว่ามีทั้งแบบ เอาความคิดไปต่อเงิน อย่างการทำธุรกิจต่าง ๆ และการเอาเงินไปต่อเงิน ในสินทรัพย์ต่าง ๆ
คุณยศกรได้เกริ่นถึงวิธีการลงทุนสองแบบ คือ การลงทุนด้วยตัวเอง กับการจ้างมืออาชีพมาดูแลให้ ซึ่งก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุด ทำให้นักมวยได้ซ้อมได้ทำสิ่งที่ถนัดที่สุดได้เต็มที่
โดยโค้ชเป๊กเสริมว่าการลงทุนคือการทำการบ้านเรื่องเงินให้จบสักที มีคนมาดูแลหลังบ้านให้โดยไม่ต้องกังวล
ปัญหาการเงินจบคือ ไม่ต้องมีเงินมหาศาล แต่มีอิสรภาพได้ทำอะไรที่อยากทำอย่างเต็มที่ รวยแล้วแล้วทำยังไงไม่ให้กลับไปจน
และให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกลงทุนของนักกีฬาว่า เวลาเอาเงินไปเปลี่ยนสินทรัพย์เราคาดหวังอยู่สองอย่าง หนึ่งคือส่วนต่างราคา และสองคือหวังปันผล
ซึ่งสำหรับนักมวยที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ แนะนำการลงทุนที่หวังปันผลมากกว่า เพราะจะมาช่วยอุดช่องโหว่การขาดกระแสดเงินสดทุกเดือน ส่วนต่างราคาเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีผลนักเพราะชกทีหนึ่งได้มากกว่าซื้อทองอยู่แล้ว
คุณยศกรจึงได้แนะนำว่า ทาง Xspring ก็มีกองทุนรวมมากมายที่แบ่งตามระดับความเสี่ยง สูง กลาง ต่ำ ให้ได้เลือกลงทุนตามความเหมาะสม
และที่อยากนำเสนอกับ รถถังและซุปเปอร์เล็กคือ มีพอร์คการลงทุนส่วนบุคคล ที่มีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพที่เอาเงินทุนตั้งต้นไปกระจายความเสี่ยงให้ผลตอบแทนมีความสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถวางแผนผลตอบแทนและความเสี่ยงให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ เพราะทุกคนมีความต้องการผลตอบแทนและรับความเสี่ยงได้มากน้อยไม่เท่ากัน
โดยคุณยศกรได้ลองวางโครงสร้างพอร์ตการลงทุนจำลองที่คิดว่าเหมาะสมกับนักกีฬามาให้ด้วย คือ
ลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น 40%
ลงทุนในตราสารหนี้ที่เรตติงดี 30%
ตราสารทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนดีอย่าง หุ้นนอกตลาด อสังหาริมทรัพย์ หรือโครงสร้างพื้นฐาน 10%
อีก 20% ควรถือเป็นเงินสดหรือตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนหากตลาดมีความผันผวนเกิดขึ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนตามที่ต้องการได้อยู่
วางแผนเกษียณ
คุณยศกรได้แนะนำวิธีคิดเบื้องต้นสำหรับการวางแผนเกษียณและสร้างรายได้ในวันที่ไม่ทำงานแล้วอย่างง่าย ๆ คือ
คิดคำนวนว่าในแต่ละเดือนต้องใช้เงินเท่าไร ดูว่าเราทำงานได้อีกประมาณกี่ปี แล้วหลังจากนั้นจะอยู่อีกกี่ปี ดูว่าในวันนั้นเราควรมีกระแสเงินสดที่พอเลี้ยงชีพเราและครอบครัวเท่าไร แล้วกลับมาจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายที่วางไว้
ทางโค้ชเป๊กได้เสริมว่า หลายคนคิดว่าถ้าจะสำเร็จกทางการเงินได้ต้องมีเงินเยอะสักร้อยล้าน
แต่จริง ๆ ถ้าเรามาคำนวณดุตามชีวิตแต่ละคนอาจพบว่าไม่ต้องมีมากขนาดนั้นก็ได้ การบ้านการเงินเราก็จบแล้ว ควรมาเปิดดูตัวเลขทั้งหมด วันนี้หาได้เท่าไร จ่ายเท่าไร อยากได้เท่าไร แล้วดูความเป็นไปได้ด้วยเงินต้นที่เรามี เชื่อว่าถ้าทำแบบนี้การบ้านการเงินเราจบ
การเงินสำคัญ
สุดท้ายทั้งรถถัง ซุปเปอร์เล็ก และลีซอ ก็ได้สะท้อนแง่คิดที่ได้ ว่าได้เปิดมุมมองใหม่เรื่องการเงิน เห็นความสำคัญมากขึ้น วันนี้ยังไม่เจออาจยังคิดไม่ได้ ใครมีโอกาสเริ่มได้เร็วก็ยิ่งดี หลังจากนี้อาจต้องเก็บมาคิดต่อ ว่าจะต้องจัดการเงินที่มีอย่างไร รวมถึงวางแผนวิธีการลงทุนใหม่
ในวันนี้ทั้งรถถังและซุปเปอร์เล็กต่างก็ได้เดินนำหลาย ๆ คนในวงการด้วยค่าตัวหลักล้าน แต่อีกเรื่องที่ต้องก้าวนำคือการหันมาใส่ใจเรื่องการวางแผนการเงินซึ่งจะปฏิวัติวงการมวยและกีฬาให้ยั่งยืนยิ่งกว่าที่เคย โดยหลังจากนี้ทาง Xspring เองก็มีแผนที่เข้ามามีส่วนร่วมให้ความรู้ด้านการเงินกับกีฬาประเภทอื่น ๆ อีกต่อไป