ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกของระบบทุนนิยมที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเงิน ทำให้เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับทุกคน แต่เชื่อว่าสำหรับเด็กจบใหม่ที่เพิ่งทำงานหรือ First Jobber ส่วนใหญ่ เรื่องเงินนับว่าเป็นเรื่องใหม่และใหญ่เอาเรื่องเหมือนกัน เพราะแม้ว่าในชีวิตประจำวันเราอาจต้องบริหารค่าใช้จ่ายการตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว แต่พอเข้าสู่วัยที่สร้างรายได้ด้วยตัวเองและต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองมากขึ้น มันกลายเป็นคนละเรื่องเลยแหละครับ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นอย่างการจัดการกับเงินเดือนก้อนแรก และเราจะพาไปดูว่าทำไมเงินก้อนนี้ถึงเป็นก้อนสำคัญสำหรับความมั่งคั่งในอนาคต
เงินเดือนก้อนแรกน่าจะเป็นสิ่งที่ First Jobber ส่วนใหญ่เฝ้ารอ เพราะมันเป็นทั้งความภูมิใจ เป็นทั้งโอกาส และที่สำคัญคือ เป็น “ก้าวแรกของความมั่งคั่ง” นั่นก็เพราะส่วนหนึ่งของรายได้เดือนแรกนี่แหละครับที่เหมาะจะเป็นเมล็ดพันธุ์ของการลงทุนที่สุด และจะเติบโตงอกงามเป็นสินทรัพย์มหาศาลในอนาคตได้ หากได้รับการดูแลอย่างดี
First Jobber ส่วนใหญ่อาจตื่นเต้นกับ “อำนาจในการใช้จ่าย” ที่มากับเงินเดือนเดือนแรกของตัวเองมากกว่า โฟกัสแค่กับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และการสร้างเนื้อสร้างตัวให้มีบ้าน มีรถก่อน ทั้งด้วยความคิดและความเชื่อว่า การลงทุนยังไม่ใช่เรื่องจำเป็น อยากใช้จ่ายตามต้องการ อยากใช้ชีวิตให้เต็มที่ก่อน และโดยเฉพาะความเชื่อว่าตัวเอง “ยังไม่พร้อม” สำหรับการลงทุน นั่นทำให้กว่าที่หลายคนจะชายตามองเจียดเงินมาปั้นพอร์ตของตัวเองก็ปาเข้าไปช่วง 30+ แล้ว แต่รู้ไหมครับว่าจริง ๆ แล้วมันอาจเป็นการปล่อยเวลาผ่านไปให้เสียเปล่า
[“เริ่มวันนี้ ดีที่สุด”]
ถ้าถามว่าการลงทุนเริ่มตอนไหนดีที่สุด คำตอบจริง ๆ ของมันคือ เริ่มวันนี้ครับ เพราะเวลา คือ ตัวแปรที่สำคัญที่สุดในการลงทุน เวลาที่ผ่านไปแต่ละวันเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการลงทุน เงินในพอร์ตการลงทุนของเราสามารถเติบโตได้อยู่ตลอด อย่างที่หุ้นหรือกองทุนก็มีขึ้นลงอยู่ทุกวัน การที่เราเริ่มไว เท่ากับการให้เวลาพอร์ตเราได้โตมากขึ้น
งานวิจัยของ Personal Capital ที่พบว่าอายุเฉลี่ยของผู้เริ่มลงทุนคือ 33 ปี หมายความว่าเป็นเวลานานกว่า 10 ปีหลังจากเริ่มทำงาน กว่าจะเริ่มหันมาสนใจเรื่องการลงทุน หรือถ้าดูกันแบบละเอียดขึ้นอีกหน่อย จะพบว่ากลุ่มผู้เริ่มลงทุนส่วนใหญ่ 27% อยู่ในช่วงอายุ 25-30 ปี และรองลงมา 25.9% ช่วงอายุ 31-36 ปี ในณะที่กลุ่มช่วงอายุ 18-24 ปี วัยของ Fist Jobber อยู่ที่ 20% เท่านั้น จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มคนอายุน้อยเพียงน้อยนิดที่เริ่มลงทุนตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ ๆ ตรงนี้ยังคงเป็นช่องว่างที่ทำให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เริ่มกันค่อนข้างช้า ทั้งที่เป็นช่วงอายุที่เหมาะกับการลงทุนมาก ทั้งภาระน้อย เปิดรับความเสี่ยงได้มาก ลองคิดดูสิครับว่าในเวลาหลายปีที่คนเราปล่อยไปกว่าจะเริ่มลงทุน พอร์ตของเราจะสามารถเติบโตได้ขนาดไหน
ยกตัวอย่างที่พอจะเห็นภาพชัด ๆ เลย คือ หุ้นของ Amazon (AMZN) ที่ตอนเปิดตัวเข้าตลาดหุ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อนมีมูลค่าไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้เติบโตจนมีราคาสูงถึงหุ้นละประมาณ 130 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว คนที่ถือเอาไว้ตั้งแต่ตอนนั้นคงยิ้มไม่หุบเลย
[“สร้างวินัยทางการเงินแบบโตได้”]
วินัยทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับคนวัยทำงาน สิ่งนี้จะสามารถช่วยให้เราใช้จ่ายแต่พอดีและสมเหตุสมผล ซึ่งหลายคนมักจะนึกถึงการตั้งเป้าหมายเงินออม การทำบัญชีรายรับรายจ่าย การแบ่งสัดส่วนรายได้ ซึ่งนั่นก็เพียงพอแหละครับสำหรับการฝึกวินัยทางการเงิน แต่ถามว่าดีที่สุดไหมก็อาจจะไม่ เพราะเราสามารถมารถเสริมสร้างวินัยทางการเงินขั้นกว่าที่สามารถเติบโตได้ด้วยการลงทุน
โดยทั่วไปการสร้างวินัยทางการเงินด้วยการแบ่งสัดส่วนรายได้และค่าใช้จ่ายมันก็จะมีส่วนที่เราต้องแบ่งมาเก็บกันอยู่แล้วใช่ไหมล่ะครับ การลงทุนเองมันก็ถือว่าเป็นการออมรูปแบบหนึ่ง แต่มีข้อดีคือมันสามารถเติบโตได้ ต่อยอดได้มากกว่าแค่เก็บไว้รับดอกเบี้ยไม่ถึง 2% ในธนาคาร ทั้งนี้หลายคนอาจบอกว่าไม่ได้มีเงินเหลือมากพอจะเอาไปลงทุน อย่างที่การวิจัยโดย Saxo ระบุว่า Gen Z 44% ไม่ลงทุนเพราะข้อจำกัดเรื่องเงินทุน แต่สมัยนี้แค่เงินหลักสิบหรือหลักร้อยก็สามารถซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมได้แล้ว และอีกอย่างคือถ้าเราลงทุนในสินทรัพย์ถูกตัว ยิ่งถือไว้นานมันก็ยิ่งมีมูลค่าสูงขึ้น นี่จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ล่อใจเราให้อยากเก็บไว้นานขึ้น และไม่กล้าขายเอาเงินออกมาใช้ง่าย ๆ ต่างกับการเก็บเป็นเงินสดเอาไว้
นอกจากนี้หากมีเงินเดือนสูงเข้าขั้นที่ต้องเสียภาษีแล้ว การลงทุนจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เข้ามาช่วยเราแบ่งเบาภาระด้านภาษี เพราะมีตัวเลือกให้การช่วยลดหย่อนทั้ง SSF และ RMF ก็จะทำให้เรายังรักษาประโยชน์ของตัวเองเอาไว้ได้ และได้ออมอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อม ๆ กันด้วย
[“เกษียณ ไม่ต้องรอจนแก่ก็ได้”]
อีกหนึ่งความเชื่อที่เป็นอุปสรรคขวางกั้น First Jobber กับการลงทุนคือ การลงทุนเป็นเรื่องของการวางแผนเกษียณ เพิ่งเริ่มทำงาน ไม่ได้จะเกษียณเร็ว ๆ นี้สักหน่อย หลายคนก็มองข้ามไป เพราะจริง ๆ แล้วถ้าหากเราวางแผนการเกษียณตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจเกษียณก่อนแก่ได้เลยด้วยซ้ำ แน่นอนว่าถ้าทำงานประจำก็คงมีระบบประกันสังคมที่รองรับเรื่องกองทุนชราภาพอยู่แล้ว แต่เอาจริง ๆ จำนวนที่เราจะได้ คิดในอัตราสูงสุดก็อาจไม่พอใช้อยู่ดี เพราะฉะนั้น วันใดวันหนึ่งก็ต้องมาวางแผนเกษียณจริง ๆ จัง ๆ
การลงทุนในกองทุน หุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์อื่น ๆ นี่แหละคือสิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดได้ในวัยเกษียณ เพราะมันจะเป็นการให้เงินทำงานหรือ Passive Income ให้เราได้ แม้ในวันที่เราเกษียณแล้วก็ตาม และอย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ ยิ่งเราเริ่มลงทุนเร็ว ในระยะยาวเราก็มีโอกาสสร้างมูลค่าให้การลงทุนของเราได้มากกว่าและเร็วกว่า เช่นเดียวกันกับการวางแผนเกษียณ ยิ่งเราเริ่มเร็ว ก็มีโอกาสที่เราจะมี Passive Income จากการลงทุนที่มากพอ จนเราไม่ต้องทำงานอีกต่อไปแล้วเร็วขึ้น หรือในตอนที่เราเกษียณเราก็อาจมีเงินก้อนใหญ่มากขึ้นไว้ใช้จ่ายทุกเดือน
[“เริ่มเร็วแล้วจะรอดไหม?”]
ทั้งนี้ หลายคนอาจกังวลว่าถ้าเริ่มเร็วเกินไปแล้วกลายเป็นขาดทุนล่ะ นั่นแหละครับคือเรื่องที่ควรตระหนักอยู่เสมอว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาหาความรู้ให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน แต่ว่าจริง ๆ แล้วมันก็มีหลากหลากหลายทางเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งก็เหมาะกับแต่ละช่วงวัยของนักลงทุนด้วย
โดยในช่วงวัยของ First Jobber เป็นวัยที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจเลือกลงทุนส่วนใหญ่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีอย่างหุ้นได้ อย่างที่ในงานวิจัยของ Saxo บอกไว้ว่า Gen Z ราว 60% ลงทุนในหุ้น ถึงอย่างไรก็จำเป็นที่จะต้องมีแบ่งส่วนน้อยไว้ลงทุนกับสินทรัพย์ความเสี่ยงกลางหรือต่ำอย่างเงินฝากประจำหรือตราสารหนี้ไว้ด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าหากว่ายังไม่มั่นใจในความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนหรือมีเงินทุนไม่มากนัก ก็อาจเลือกสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงกลางหรือต่ำเป็นส่วนใหญ่ หรือเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมซึ่งจะมีมืออาชีพคอยบริหารจัดการการลงทุนให้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังใช้เงินทุนไม่มากแต่ก็สร้างผลตอบแทนให้เราได้เช่นกัน
ที่กล่าวมานี้คือปัจจัยคร่าว ๆ ว่าทำไม First Jobber ควรเริ่มลงทุนตั้งแต่เงินเดือนก้อนแรก ด้วยเหตุผลเรื่องเวลาที่มีความสำคัญต่อการลงทุนอย่างมาก และยังเป็นข้อได้เปรียบของคนอายุน้อย การสร้างวินัยทางการเงินได้ดีขึ้นด้วยการลงทุน รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเกษียณได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอแก่ เป็นเหตุผลชั้นดีในการเริ่มเจียดเงินอย่างน้อย 10-20% ของรายได้มาออมและลงทุน หรือมากกว่านั้นตามเงื่อนไขการใช้ชีวิตและภาระทางการเงินของแต่ละคน แต่ที่สำคัญคือควรเริ่มให้เร็วและทำอย่างสม่ำเสมอจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด