“CP” กลายเป็นคำคุ้นหูที่คนไทยทั้งประเทศตั้งรู้จัก ในฐานะธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย เจ้าของ 7-11 ในไทย รวมถึง Makro และ Lotus ที่เติบโตขึ้นมาได้ด้วยการนำของมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทย “ธนินท์ เจียรวนนท์” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เจ้าสัวธนินท์”
เจ้าสัวธนินท์ คือคนสำคัญที่ทำให้ CP หรือ ธุรกิจเครือ “เจริญโภคภัณฑ์” เติบโตได้ยิ่งใหญ่อย่างในทุกวันนี้ แม้มองดูที่ความสำเร็จแล้วจะเหมือนว่าเขาเป็นลูกเจ้าของธุรกิจ นักเรียนจบนอกที่ได้รับโอกาสดีเหมือนนักธุรกิจทั่วไป แต่ความเป็นจริงเขาต้องใช้ทั้งความพยายามและความสามารถ รวมถึงทุ่มทุนมหาศาลกว่าจะสร้างธุรกิจที่แทบจะครองตลาดทั้งประเทศเหมือนทุกวันนี้
จริง ๆ แล้ว CP เติบโตขึ้นมาจากร้านขายเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ ของครอบครัวตระกูลเจี่ย
เจ้าสัวธนินท์ เกิดเมื่อ 19 เมษายน พ.ศ. 2482 เป็นลูกชายคนสุดท้องในครอบครัวชาวจีนที่ค้าขายอาหารสัตว์และเมล็ดพันธุ์ ชื่อร้าน “เจียไต๋” เรียนประถมที่ไทยและไปเรียนต่อที่ซัวเถาประเทศจีนเพื่อฝึกภาษาจีน พออายุ 16 ก็ไปเรียนต่อด้านการค้าที่ฮ่องกงจนจบพาณิชยกรรมตอนอายุ 19
จบหมาด ๆ ก็กลับมาทำงานที่ร้านในตำแหน่งแคชเชียร์ ก่อนจะมีโอกาสได้ไปทำงานที่สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย และที่บริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ เป็นที่ซึ่งเขาได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไข่ไก่และปศุสัตว์ รวมถึงการทำงานกับภาครัฐ นักวิชาการ และมีโอกาสได้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศ
เจ้าสัวธนินท์ในวัย 25 ปีจึงได้กลับมาช่วยต่อยอดธุรกิจครอบครัวในปี 2507 ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ซึ่งการเข้ามาของธนินท์ก็ส่งผลดีกับบริษัทอย่างมาก เขานำเอาความรู้ แนวคิด และเทคโนโลยีที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ จัดการปัญหาเรื่องการขายอาหารสัตว์ซึ่งราคาตกต่ำในช่วงนั้น ด้วยการผสมขายอาหารสัตว์สำเร็จรูป ต่อยอดจากการขายวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว
ผลงานที่โดดเด่นมาก ๆ เลย คือ การปรับปรุงการเลี้ยงไก่ซึ่งมีปัญหาเรื่องต้นทุนสูงในช่วงนั้น โดยใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงและสายพันธุ์ไก่จาก “Arbor Acres” ที่สหรัฐอเมริกา บุกเบิกการเลี้ยงไก่เนื้อแบบโรงเรือนครั้งแรกในไทย นอกจากนี้ยังช่วยจัดหาเงินทุนและสนับสนุนให้เหล่าเกษตรกรหันมาเลี้ยงไก่ เพื่อส่งให้บริษัทอีกด้วย
จนในปี 2519 บริษัทเติบโตได้ที่พร้อมกับวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่าเดิม จึงได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ CP Group เพื่อเป็นบริษัทหลักในการบริหารกิจการ ที่ขยายออกไปทั้งในและต่างประเทศ
CP เริ่มรุกตลาดต่างประเทศในปี 2522 เจ้าสัวธนินท์ร่วมลงทุนกับ บริษัท คอนติเนนตัล เกรน ของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งบริษัท “เจียไต๋คอนติ” ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งนับว่าเป็นบริษัทต่างชาติแรก และบริษัทไทยเจ้าแรกที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในจีน ใบอนุญาตหมายเลข 0001
หลังจากนั้น CP Group ก็เดินหน้าทำตลาดในอีกหลากหลายประเทศ ทั้งเอเชีย อเมริกา และยุโรป พร้อมทั้งแตกย่อยสาขาสู่การลงทุนในประเภทธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น อย่างอสังหาฯ และโดยเฉพาะการค้าปลีกและการกระจายสินค้า ที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์
ในปี 2530 CP ต้องการที่จะลดกระบวนการที่กว่าสินค้าจะไปถึงร้านค้าต่าง ๆ หรือผู้บริโภค ซึ่งเมื่อก่อนต้องผ่านคนกลางอีกที และมีผลกับการรักษาคุณภาพสินค้าสด จึงตัดสินใจไปดีลกับ บริษัท เอสฮาเฟโฮลดิงส์ เจ้าของ Makro ที่กำลังรุกตลาดเอเชีย ชวนให้มาเปิดในไทยด้วย ขายค้าส่งเองเสียเลย
แต่มีธุรกิจขายส่งแล้ว ทำไมจะไม่ทำค้าปลีกล่ะ CP จึงตัสดสินใจรับจบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ปี 2531 เจ้าสัวธนินท์จึงได้ไปคุยกับเจ้าของ “7-11” ธุรกิจร้านสะดวกซื้อจากสหรัฐอเมริกา และได้ก่อตั้ง “บริษัท ซี.พี. เซเว่น อีเลฟเว่น จำกัด” เปิดร้าน 7-11 ในไทยสาขาแรกที่ซอยพัฒพงษ์ ปี 2532 ปีเดียวกับที่เปิด Makro
และอย่างที่รู้กันดี จนถึงทุกวันนี้ 7-11 เป็นแบรนด์ร้านสะดวกซื้ออันดับ 1 ในไทย ที่มีมากกว่า 14,000 สาขาทั่วประเทศ
ต่อมาในปี 2537 CP Group ก็ได้ต่อยอดธุรกิจค้าปลีกอีกครั้งด้วย “Lotus Super Center” แต่อยู่ได้ไม่นานก็เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ทั่วเอเชีย ที่ไทยเราเรียกกันว่า “ต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 ทำให้เจ้าสัวธนินท์ตัดสินใจขายหุ้น 75% ของ Lotus ให้กับกลุ่มธุรกิจ Tesco จากประเทศอังกฤษ และภายหลังก็ขายออกไปจนหมด
แต่ถึงอย่างนั้น ก็เป็นที่รู้กันดีว่าในที่สุด ปี 2563 CP ก็ได้ซื้อ Lotus กลับมาจากกลุ่ม Tesco ที่ประสบปัญหาด้านการเงินหนัก และทำให้ CP แทบจะผูกขาดค้าปลีกไทยไปแล้ว
ซึ่งในปัจจุบันนี้ CP Group หรือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อยู่ในแถวหน้าสุดของบรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ในไทย และมีหลากหลายประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและดิจิทัล ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ไปจนถึงธุรกิจการเงินและการธนาคาร โดยได้เชื่อมโยงและขยายผลประโยชน์จากธุรกิจต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อมอบประโยชน์สูงสุดให้ประเทศ และประชาชน และแน่นอน ให้บริษัท
โดยทุกวันนี้เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ วัย 84 ปี ยังคงนั่งคุมบังเหียน CP ในตำแหน่งสูงสุดอย่างประธานอาวุโส และในปีนี้ก็เพิ่งได้รับรางวัลเกียรติยศจาก Forbes “MALCOLM S. FORBES LIFETIME ACHEIVEMENT” และได้แบ่งปันแนวคิดการทำธุรกิจสำคัญของเขา คือ “การสร้างประโยชน์ให้กับทุกประเทศที่ไปลงทุน สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภค ประชาชนในประเทศนั้น สุดท้ายองค์กรก็จะได้รับประโยชน์”
ที่มา: https://www.cpgroupglobal.com/th/about-cp/milestones
https://www.cpgroupglobal.com/th/business-lines
https://www.thepeople.co/read/business/51058
https://taladpanya.com/%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8…/
https://thestandard.co/dhanin-chearavanont/
https://workpointtoday.com/forbes-lifetime-acheivement…/