ข่าวการปิดตัวของร้านอาหารระดับตำนานอย่าง”สีฟ้า” เจ้าของสโลแกน “อย่าลืมสีฟ้า เวลาหิว” หลังเปิดให้บริการมากกว่า 50 ปี โดยจะเปิดร้านถึงวันที่ 11 กรกฎาคมนนี้ โดยร้านสีฟ้าได้ย้ายมาที่สยามสแควร์ หลังหมดสัญญาเช่าที่ราชวงศ์ เปิดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2512 โดยระยะแรกนำลักษณะการขายแบบราชวงศ์มาใช้ คือ ให้เจ้าอื่นมาเช่าและขายของในร้าน รูปแบบคล้ายฟู้ดเซ็นเตอร์ปัจจุบัน และช่วงที่เปิดสาขาแรกๆ มีป้ายเขียนว่า “สีฟ้ามาจากราชวงศ์” เพราะกลัวลูกค้าจำไม่ได้
•
นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกในสยามสแควร์ ที่มีการปิดร้านอาหารดังระดับตำนานที่อยู่คู่กับสยามสแควร์ เพราะก่อนหน้านี้ โคคา เรสเตอรอง หรือ โคคาสุกี้ ประกาศปิดสาขาสยามสแควร์ที่เปิดให้บริการมากว่า 54 ปี โดยให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เนื่องจากการหมดสัญญาเช่า รวมทั้งมีการวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ผลประกอบการของกลุ่มโคคาที่ลดลง และร้านอาหารขนาดใหญ่อาจไม่จำเป็นอีกต่อไปในยุคปัจจุบัน
•
นอกจากปัจจัยเฉพาะตัวกิจการแต่ละแห่งแล้ว หากเปรียบสยามสแควร์เป็นเมืองเมืองหนึ่ง ที่มีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ก่อสร้างเมื่อปี 2505 มีพื้นที่กว่า 63 ไร่ เป็นศูนย์การค้าแนวราบ พื้นที่เปิดโล่ง จากการที่อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ จอมพล ประภาส จารุเสถียร ที่ให้เป็นแหล่งค้าขายเพื่อป้องกันการบุกรุกที่ดินของชุมชนแออัด ก่อนจะแล้วเสร็จในปี 2507 เป็นอาคารพาณิชย์ สูง 3-4 ชั้น นับร้อยๆห้อง
•
ก่อนที่จะมีการพัฒนาโครงการต่างๆ จากการลงทุนของเอกชน อย่างโรงภาพยนตร์เอเพล็กซ์ ที่มี 3 ทหารเสือ อย่าง สยาม ลิโด้ และสกาล่า ของตระกูลตันสัจจา โดยเฉพาะสกาล่า โรงภาพยนตร์แบบอาร์ตเดโค มีเสาคอนกรีตโค้ง และโคมฟ้าระย้าทรงหยดนํ้าค้างแข็ง 5 ชั้นขนาดยักษ์ที่สั่งตรงจากอิตาลี และได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อนที่ในที่สุดโรภาพยนตร์สกาล่า ที่เคยเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ปิดตัวลงในเดือนกรกฎาคม 2563 และบมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ชนะการประมูล เพื่อสร้างศูนย์การค้าแห่งใหม่
•
หรือโรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ ในอดีตเคยเป็นโรงโบว์ลิ่งที่กลุ่มเจริญรัชตะภาคย์ เครือโรงแรมเพรสิเด้นท์มาดำเนินการ ก่อนจะรื้อเพื่อสร้างโรงแรมในปี 2527 และยังไม่นับรวมร้านค้า หรือ สถานที่ต่างๆ ในสยามสแควร์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ การประกอบธุรกิจของเจ้าของเอง การปรับขึ้นค่าเช่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ความเปลี่นนแปลงของยุคสมัย เช่น ร้านเปี๊ยกดีเจสยาม ที่เคยเป็นร้านขายเทปซีดีรายใหญ่ในสยามสแควร์ ร้านหนังสือดอกหญ้า รวมทั้งแหล่งรวมโรงเรียนกวดวิชา ในยุคการแข่งขันเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ที่ผู้ปกครองต้องมารอเข้าคิวจองเรียนแบบค่ำคืน ชนิดหัวแถวยันท้ายแถวยาวไปไกล รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของร้านสมัยใหม่ เช่น เอ็มเค ที่เริ่มจากร้านอาหารไทยคูหาเดียว และไม่ได้เริ่มจากสุกี้ โดยคุณป้า ทองคำ เมฆโต ซึ่งซื้อกิจการมาจาก มาคอง คิงยี ชาวฮ่องกง และอักษร MK ก็มาจากชื่อของเธอ (Markon Kingyee – MK)
•
หรือการเป็นแหล่งศูนย์รวมของวัยรุ่น อย่างน้ำพุ่งเซ็นเตอร์พอยท์ ที่เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม ที่มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่ได้แรงบันดาลใจจากสยามสแควร์ ในการเขียนบทและใช้สยามสแควร์เป็นฉากหลังของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งนอกจากประเด็นความรักของวัยรุ่น และความหลากหลายทางเพศแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นการบอกเล่าสยามสแควร์ ซึ่งหลายสถานที่ในปัจจุบันไม่ได้มีแล้ว กลายเป็นภาพยนตร์ในตำนาน แม้จะผ่านมา 16 ปีแล้ว (เข้าฉาย พ.ศ.2550) และได้รับเลือก 70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9
•
รวมทั้งยังมีภาพยนตร์อย่าง สยามสแควร์ ในปี 2527 ของศุภักษร ที่สามารถแสดงภาพความนิยมและชีวิตของกลุ่มวัยรุ่นในสยามสแควร์ในยุคนั้น หรือ สยามสแควร์ ในปี 2560 กำกับโดยไพรัช คุ้มวัน เล่าถึงสยามสแควร์ผ่านมิติของภาพยนตร์สยองขวัญภายใต้แนวคิดหลักที่ว่า “สยามสแควร์มีผี” ก็คือแรงบันดาลใจที่มาจากสยามสแควร์
•
แม้สยามสแควร์ จะเปลี่ยนแปลงไป แต่คำพูดที่คนชอบพูดกันคือ “จุฬาฯรวย” จากการที่สำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าของ และปัจจุบันรายล้อมไปด้วยศูนย์การค้าสมัยใหม่
•
แต่ในความเป็นจริง รศ.ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาส รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2565 ถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่สยามฯ ภายใต้ธีม Smart City ที่จุฬาฯใช้เป็นแนวทางพัฒนาสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่ทั้งหมด โดยการพัฒนาสยามสแควร์โฉมใหม่ ให้คุณค่าใน 5 เป้าหมายหลัก คือ
1.การเป็นผู้กำหนดเทรนด์ทางสังคม หรือการเป็น Trend Setter
2.พื้นที่ของการเรียนรู้ หรือ Learning Scape
3.พื้นที่ของการเชื่อมต่อ หรือ CONNECT ที่ไม่ใช่แค่โลเคชั่นเอื้อต่อการเดินทางเท่านั้น
4. พื้นที่ของ Happening ซึ่งมีทั้งกิจกรรม Out Door ดนตรี งานศิลปะ และการ Happening เป็นเสน่ห์ที่แต่ละคนรับรู้ต่างกัน แม้จะมาสยามฯในวันเดียวกัน
5. พื้นที่ของความ UNIQUENESS ซึ่งจุฬาฯ คาดหวังว่า สยามฯจะมีคาแรกเตอร์ ด้วยการเอา Flagship Store ที่โดดเด่น ทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศ
•
ส่วนการจากไปของร้านเก่าแก่ที่อยู่คู่สยามมาอย่างยาวนานต้องจากไป รศ.ดร.จิตติศักดิ์ มองว่า การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวในพื้นที่สยามนี้ ไม่ได้แตกต่างจากการเปลี่ยนผ่านในพื้นที่อื่นๆของกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจดั้งเดิม ร้านค้าเก่าแก่ที่ปิดตัวไปล้วนล้มหายตายจากไปตามวงจร
•
และสำคัญที่สุด ทุกบาททุกสตางค์ที่ได้จากสยามฯ ต้องมีกำไรเพื่อส่งรายได้ให้กับจุฬาฯ ขณะเดียวกันยัง ต้องสร้างมูลค่าให้กับสังคม
และบางอย่างจุฬาคงทำไม่ได้ เพราะภาพลักษณ์ของความคาดหวังสังคม มันกดอยู่
•
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ระบุว่า ในปี 2565 ที่ดินที่มีมูลค่าสูงที่สุดในกรุงเทพฯ ย่านสยามสแควร์ราคาประมาณ 3 ล้าน 5แสนบาทต่อตารางวา หรือไร่ละ 1,400 ล้านบาท และมีราคาปรับเพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน ทำให้คาดว่า พื้นที่ 63 ไร่ เฉพาะที่ดินของสยามสแควร์ทั้งหมดมีมูลค่า 88,200 ล้านบาท
•
ทั้งหมดคือความเปลี่ยนแปลงของสยามสแควร์กว่า 50 ปี ที่แม้เราต้องการจะรักษาและเก็บมันไว้ แต่ที่สุดก็คือความทรงจำ และประสบการณ์ร่วมในแต่ละช่วงวัยนั่นเอง ว่าแต่คุณมีความทรงจำกับสยามสแควร์อย่างไรบ้าง
•
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/th.connectthedots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots
ที่มา
https://www.thansettakij.com/sust…/food-security/568163…
https://www.brandbuffet.in.th/…/coca-restaurant…/
https://th.m.wikipedia.org/wiki/สยามสแควร์
https://www.bbc.com/thai/thailand-53275024
https://www.bbc.com/thai/thailand-53076305
https://brandinside.asia/cpn-demolish-scala/
https://brandinside.asia/cpn-new-scala/
https://th.m.wikipedia.org/wiki/รักแห่งสยาม
https://www.thepeople.co/read/39344
https://siamrath.co.th/n/34318
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1020375