#Tales of Numbers เพราะตัวเลขไม่เคยหลอก แต่กำลังบอกอะไรเรา?
•
ถ้าพูดถึงสินค้าส่งออกเด่นของไทย หลายๆ คนอาจนึกถึงพวกชิ้นส่วนรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ ปลากระป๋อง หรือกระทั่งทุเรียน แต่ในความเป็นจริงสินค้าส่งออกที่เด่นมากคนไทยที่ส่งไปให้คนทั่วโลกใช้แบบไม่รู้ว่าสินค้าไทยน่าจะเป็นถุงยางอนามัย เพราะส่วนแบ่งของถุงยางไทยในตลาดส่งออกโลกในปี 2022 สูงถึง 44% ซึ่งก็คือสูงที่สุดในโลก
•
ใช่ครับ ไทยคือชาติที่ “ส่งออกถุงยางอนามัย” ปริมาณมากที่สุดในโลก โดยในปี 2022 ถ้าไปดูตัวเลขจากกรมศุลกากร ไทยส่งออกไปทั้งหมดกว่า 14,000 ตัน (ใครสนใจเอา HS-Code ของถุงยางไปค้นในฐานข้อมูลได้ครับ มันคือ 4014100000)
•
เราอยากคิดง่ายๆ ว่าน้ำหนักถุงยางเฉลี่ยๆ รวมบรรจุภัณฑ์ทั้งซอง กล่อง คู่มือ ฯลฯ อะไรเบ็ดเสร็จแล้วน้ำหนักอันนึงจะประมาณ 10 กรัม และถ้าคิดแบบนี้เราก็จะเห็นว่า มันหมายความว่าถุงยางที่ไทยส่งไปทั่วโลก 14,000 ตัน นี่แปลงหน่วยเป็นกิโลกรัมก็คือส่งออกไป 14,000,000 กิโลกรัม แปลงหน่วยเป็นกรัมก็คือส่งออกไป 14,000,000,000 กรัม และถ้าคิดง่ายๆ ถ้าถุงยางน้ำหนักเฉลี่ยชิ้นละ 10 กรัมดังที่ว่า ก็หมายความว่าในปี 2022 ไทยน่าจะส่งถุงยางไปทั่วโลกราวๆ 1,400,000,000 ชิ้นเลยทีเดียว
•
จริงๆ ไอ้เรื่อง “ไทยเป็นชาติที่ส่งออกถุงยางมากที่สุด” นี่บางคนก็รู้แล้วเพราะ ไทยเป็นชาติที่ส่งออกยางพารามากที่สุด มันก็เดาได้ไม่ยากว่ายางมันเยอะขนาดนี้ มันเอาไป “แปรรูป” ทำสินค้าขายได้ไม่กี่อย่างหรอก และของที่ดูจะ “สร้างมูลค่าให้กับยาง” มากที่สุดก็คือถุงยางนี่แหละ ซึ่งจริงๆ Bloomberg ก็เคยลงบทความประเด็นนี้ ตอนต้นๆ ปี 2023 และสื่อไทยก็รายงานต่อกันไปรอบแล้ว
แต่จริงๆ มันไม่มีใครไปค้นต่อเท่าไรว่าเออ แล้วไทยส่งออกไปให้ใครบ้าง
•
คำตอบเร็วๆ คือทั้งโลก คือคุณเป็นผู้ชายทั่วโลกและใช้ถุงยาง มันมีโอกาสสูงมากที่คุณจะใช้ถุงยางที่ผลิตจากไทย เพราะถ้าไปดูตัวเลขส่งออกจะเห็นเลยว่าพวกประเทศมหาอำนาจซื้อถุงยางจากไทยกระจุยกระจายโดยยอดขายก็ตามจำนวนประชากรน่ะแหละ (จีนซื้อไป 2,200 ตัน อเมริกาซื้อไป 1,400 ตัน รัสเซียซื้อไป 420 ตัน ญี่ปุ่นซื้อไป 380 ตัน เยอรมันซื้อไป 300 ตัน อังกฤษซื้อไป 250 ตัน ฯลฯ) และก็ขายไปทั่วโลกจริงๆ พวกลาตินอเมริกาก็นำเข้าไปเป็นร้อยตันเป็นปกติ และบรรดาประเทศที่บอกชื่อมาคนไทยคงไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนในแอฟริกาก็นำเข้าถุงยางไทยไปเพียบเป็นสิบๆ ตันกันแม้แต่ชาติเล็กๆ
•
คือทั่วโลกใช้ถุงยางไทยจริงๆ และถ้าจะมีข้อยกเว้นสำคัญที่ใช้ถุงยางไทยกันน้อยก็คงจะมีแค่อินเดียที่ผลิตถุงยางใช้เองซะเยอะ ชาติอื่นๆ คือเค้ารู้สึกว่าซื้อจากไทยสะดวกกว่าหมด
•
อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจสงสัยว่าถ้าไทยเรายิ่งใหญ่ขนาดนี้ด้านถุงยาง ทำไมสื่อถึงไม่ค่อยพูดถึง? เอาจริงๆ ก็อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่ธุรกิจถุงยางในไทยอยู่ในมือพวกบริษัทข้ามชาติ (เช่น Reckitt เจ้าของแบรนด์ Durex ที่มีส่วนแบ่งตลาดถุงยางใหญ่สุดในโลกนี่ก็ไม่น่าแปลกใจที่มีฐานผลิตสินค้าหลักๆ อยู่ในไทย) แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือ เอาจริงๆ พวกสื่อธุรกิจไทยไม่ค่อยให้น้ำหนักกับสินค้าส่งออกอยู่แล้ว เวลาพูดถึงตระกูลธุรกิจในไทยก็จะชอบพูดถึงกลุ่มตระกูลที่ประกอบธุรกิจในไทย ทั้งที่จริงๆ ก็มีกลุ่มที่เน้นสินค้าส่งออกที่มั่งมีไม่ใช่น้อยอีกหลายตระกูล ซึ่งเค้าขายอะไรกันนี่น่าสนใจทั้งนั้น
•
สุดท้าย ความน่าสนใจที่อยากทิ้งท้ายของธุรกิจถุงยางก็คือมันเป็นธุรกิจที่ดูจะไม่สามารถมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีได้ง่ายๆ หรือพูดง่ายๆ คือมันคงจะไม่โดน Disrupt เพราะถุงยางก็เป็นอย่างนี้มาหลายปีแล้ว ไม่ได้มีใครเรียกร้องให้ผลิตภัณฑ์ต้องพัฒนาหรือ “อัปเดต” อะไร
•
และจริงๆ ปัญหาในการการพัฒนาถุงยางก็คือสำหรับ “ผู้ใช้” แล้วสิ่งที่ “ถุงยาง” ต้องต่อสู้จริงๆ มันคือการ “ไม่ใส่ถุงยาง” ของผู้ใช้ และความท้าทายในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่แล้วๆ มาก็คือ จะออกแบบถุงยางยังไงให้ใ “รู้สึกเหมือนไม่ใส่ที่สุด” แบบที่ผลิตภัณฑ์ถุงยางยุคหลังที่ “บางลง” พยายามจะนำเสนอ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการ “บางลง” ของถุงยางก็คงจะบางถึงที่สุดแล้วที่ยังจะใส่แล้ว “ปลอดภัย” หรือพูดง่ายๆ คือบางกว่านี้ก็เสี่ยงจะ “ถุงแตก” แล้ว
•
จริงๆ มันมีคนนำเสนอเรื่องวัสดุอื่นๆ ที่จะทำให้ถุงยางบางใด้มากขึ้น ไปจนถึงไอเดียที่จะสร้างถุงยางที่ใส่แล้วรู้สึกดีว่าไม่ใช่ แต่คำตอบเร็วๆ คือ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครนึกออกว่าจะทำยังไงออกมาเวิร์ค พูดง่ายๆ คือ ในทางวัสดุศาสตร์ เราทำให้ถุงยางบางลงได้แน่นอน มีวัตถุดิบที่ทำได้ แต่มันแพงกว่ายางเยอะ ผลิตออกมาถุงยางอันนึงอาจต้องขายหลักพัน ซึ่งมันไม่มีใครซื้อแน่ๆ มันก็เลยต้องพับไอเดียไป
•
และนี่ก็เลยทำให้ตลาดถุงยางอนามัยที่ทำจากยางพาราก็น่าจะยากที่จะโดนเขย่าด้วยเทคโนโลยีระดับปฏิวัติอะไร และมันก็คงจะทำให้ไทยผู้ผลิตยางพารารายใหญ่นั้นสามารถเป็นเจ้าตลาดและมหาอำนาจส่งออกถุงยางเป็นพันล้านชิ้นออกไปทั่วโลกในทุกๆ ปีต่อไป
.
เขียนโดย : อนาธิป จักรกลานุวัตร
•
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/th.connectthedots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots
•
ที่มา:
https://www.bnnbloomberg.ca/thai-condom-exports-gain-in…
https://www.forbes.com/…/why-big-condom-makers…/…