เครื่องแบบนักเรียนกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา จากกรณีที่ น้องหยก เด็กหญิงวัย 15 ปี ผู้เคยถูกดำเนินคดีมาตรา112 ใส่ชุดไปรเวทไปโรงแรียนเพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการแต่งกาย ถูกโรงเรียนห้ามไม่ให้เข้าเรียนจนต้องปีนรั้วโรงเรียนเข้าไปถึง 2 วันติด ทั้งยังมีข่าวว่าโรงเรียนไล่น้องออกจนสังคมเปิดประเด็นถกเถียงกันยกใหญ่
•
การเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับแต่งชุดเครื่องแบบนักเรียนมีการพูดถึงมาหลายปี หากจะย้อนดูก็อาจจะนับว่าเริ่มเป็นที่ถกเถียงกันตั้งแต่ต้นปี 2562 จากการที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนได้มีนโยบายให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียนได้ทุกวันอังคาร ตลอด 1 ภาคเรียน ทำให้สังคมเริ่มพูดถึงเรื่องนี้ ก่อนที่ในปี 2563 กลุ่มนักเรียนเลวจะออกมาเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการให้มีการปฏิรูปการศึกษาไทย และหนึ่งในข้อเรียกร้องคือ ให้ยกเลิกการบังคับแต่งชุดนักเรียน ในช่วงเปิดเรียนในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ก็ได้มีการรณรงค์ “1 ธันวาบอกลาเครื่องแบบ” ให้นักเรียนที่มีอุดมการณ์เดียวกันใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนอีกด้วย โดยเหตุผลส่วนใหญ่คือเรื่องของสิทธิและเสรีภาพในการแต่งกาย ต่อต้านอำนาจที่โรงเรีนใช้บังคับการแสดงออกถึงตัวตนของเด็ก จนถึงในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา
•
พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดและกำลังอยู่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคก้าวไกล ก็มีนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาให้ยกเลิกการบังคับแต่งเครื่องแบบนักเรียนด้วย และล่าสุดก็มีกรณีของน้องหยกที่ทำให้เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันอีกครั้ง
•
แต่นอกเหนือจากประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพซึ่งเป็นหัวใจหลักของกระแสการเรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนแล้ว ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าประเด็นรองอย่างเรื่องของค่าใช้จ่ายก็อาจเป็นเหตุผลหลักของใครหลายคนที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้น
•
ในภาคของการเงินส่วนบุคคล คงปฏิเสธไม่ได้ว่าค่าเครื่องแบบนักเรียนก็เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งในการศึกษา และเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องแบกรับอยู่เสมอ ยิ่งเด็กในวัยกำลังโตอย่างช่วงประถมหรือมัธยมต้นอาจต้องซื้อใหม่อยู่บ่อย ๆ หรือแม้แต่การย้ายโรงเรียน ทำให้ต้องซื้อเครื่องแบบใหม่
•
โดยในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา ราคาชุดนักเรียนในท้องตลาดปรับขึ้นราว ๆ 20% จากต้นทุนที่สูงขึ้นและภาวะเศรษฐกิจ จากเดิมที่เคยมีราคาต่อชุดที่ประมาณ 300-600 กว่าบาทสำหรับชุดนักเรียนประถม และ 400-1,800 กว่าบาทสำหรับชุดนักเรียนมัธยม ปรับขึ้นเป็น ประมาณ 400-700 กว่าบาทสำหรับชุดนักเรียนประถม และ 500-2,000 กว่าบาทสำหรับชุดนักเรียนมัธยม และเด็กหนึ่งคนอาจใช้ตั้งแต่ 3-5 ชุด ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่น้อย ทั้งนี้ยังไม่รวมรองเท้านักเรียนที่แตกต่างกันออกไปตามเครื่องแบบที่ใส่ คู่ละ 200-300 กว่าบาท อีกคนละ 2-3 คู่ ค่าใช้จ่ายโดยรวมในการซื้อหนึ่งครั้งแล้วก็อาจสูงถึงคนละ 4,000-6,000 กว่าบาท ซึ่งทั้งชุดและรองเท้าอาจต้องซื้อใหม่ทุก 1-2 ปี หรือเร็วกว่านั้นตามการเติบโตของเด็ก
•
แม้จะมีการสนับสนุนจากภาครัฐ โดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนช่วลดราคาเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และกรมการค้าภายในได้จัดโครงการลดราคาชุดนักเรียนสูงสุดถึง 85% แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการบรรเทาทุกข์แค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น ผู้ปกครองบางส่วนหรือใครหลาย ๆ คนเลือกที่ประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วยการส่งต่อชุดกันในครอบครัวหรือเครือญาติ นำไปเลาะชื่อแล้วปักใหม่แทนการซื้อซึ่งก็ยังมีค่าใช้จ่ายอยู่ดี หากมีการยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนเกิดขึ้น สิ่งที่จะหายไปก็คงจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในส่วนนี้
•
หากเรามาดูในภาคธุรกิจ ตลาดชุดนักเรียนซึ่งประกอบไปด้วย 3 เจ้าใหญ่ชื่อคุ้นหูอย่าง ตราสมอ น้อมจิตต์ และสมใจนึก มีมูลค่าตลาดเมื่อปี 2562 รวมกว่า 7,000 ล้านบาท และตลาดรองเท้านักเรียนต่างหากที่ 5,000 ล้านบาท แต่ก็เหมือนหลาย ๆ ธุรกิจที่หนีไม่พ้นพิษโควิด-19 รายได้ในปี 2564 ของทั้ง 3 แบรนด์หดตัวกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และไม่ใช่แค่เจ้าของแบรนด์เท่านั้น ร้านค้าปลีกบางส่วนก็มียอดขายที่ลดฮวบไปราว 70% จากความต้องการชุดนักเรียนที่ลดลงในช่วงของการเรียนออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่าหากยกเลิกการบังคับแต่งเครื่องแบบนักเรียน ตลาดนี้จะได้รับผลกระทบโดยตรงแม้ว่าจะไม่ใช่การยกเลิกเครื่องแบบไปเลย แต่เมื่อไม่ใช่สิ่งจำเป็น ความต้องการของตลาดย่อมลดลงเป็นธรรมดา สิ่งที่จะหายไปอีกอย่างก็คือรายได้ของธุรกิจนี้
•
ในเรื่องของเม็ดเงิน ฝั่งที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ก็คงเป็นผู้ปกครองที่ได้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูก ๆ ไปไม่น้อย แต่ทางภาคธุุรกิจคงได้ผลที่ตรงกันข้าม แม้ว่าจะยังไม่มีการประเมินว่ามูลค่าตลาดจะได้รับความเสียหายและลดลงไปมากน้อยเพียงใดจากความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นนี้ แต่หากนโยบายนี้เกิดขึ้นจริง ตัวเลขที่หายไปจะส่งผลต่อการมีอยู่อย่างมั่นคงมาตลอดหลายสิบปีของตลาดนี้อย่างแน่นอน
•
เหล่าแบรนด์ชุดนักเรียนอาจต้องเตรียมรับสถาณการณ์นี้โดยวางแผนธุรกิจให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยอาจต้องพิจารณาการผลิตสินค้าที่หลากหลาย ในเมื่อชุดนักเรียนเองอาจไม่สามารถเป็นรายได้หลักอีกต่อไป โอกาสจะไปตกอยู่ที่เสื้อผ้าแฟชั่นและเสื้อผ้าอเนกประสงค์มากขึ้น ก็อาจเป็นช่องทางที่ธุรกิจเหล่านี้จะได้เติบโตหรือเตรียมตัวย้ายตลาด แม้ว่าในตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นจะมีการแข่งขันสูงอยู่แล้วแต่ก็อาจเป็นทางรอดที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด เพราะแบรนด์รองเท้านักเรียนเจ้าใหญ่อย่าง นันยาง ก็ได้ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว โดยการผลิตไลน์สินค้าที่หลากหลายไม่ใช่แค่รองเท้านักเรียนเท่านั้น แต่ยังมีรองเท้าผ้าใบอเนกประสงค์ รองเท้าแฟชั่นมากมาย และยังมีรองเท้าแตะช้างด้าวสุดฮิตที่อาจเป็นคู่โปรดของใครหลาย ๆ คน คุณจั๊ก จักรพล จันทวิมล ทายาทอาณาจักรนันยางได้ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า “นันยางไม่ได้เกิดมาจากการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียน แต่ออกแบบมาให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภค หากเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นก็ต้องดูที่ผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภคไปที่ไหน เราก็ต้องไปที่นั่น”
•
ส่วนการเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียนจะเป็นไปในทิศทางใด และสร้างความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน คงต้องรอติดตามและปรับตัวไปพร้อมกัน
•
เขียนโดย ทักษ์ ทัพสุริย์
•
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : Connect the Dots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots
•
ที่มา
เปิดมูลค่าตลาดเครื่องแบบนักเรียน “มูลค่าหมื่นล้านบาท” : PPTVHD36
เปิดรายได้ กำไร 3 แบรนด์ชุดนักเรียนไทย วัยรุ่นจีนฮิต จวีจิ้งอี โพสต์คิดถึง | ประชาชาติธุรกิจ | LINE TODAY
‘ราคาชุดนักเรียนปี 66’ แพงขึ้นกี่บาท ร้านไหนราคาน่ารัก เซ็กได้ที่นี่ (komchadluek.net)
“กรุงเทพคริสเตียน” สุดคึกคัก เด็กแต่งชุดไปรเวทมาเรียนวันแรก! : PPTVHD36
กลุ่มนักเรียนเลวตระเวนติดไวนิล “1 ธันวาบอกลาเครื่องแบบ” หลายจุด (thairath.co.th)
“นันยาง“ แบรนด์รองเท้าสุดเก๋า! ที่ไม่ยอมตกเทรนด์ – YouTube