#ข้อมูลสำคัญที่ควรรู้ก่อนซื้อตราสารหนี้
อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating)
โดยทั่วไปตราสารหนี้จะวัดความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ได้จากการจัดลำดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งสำหรับตราสารหนี้ภาครัฐจะไม่มีการจัดลำดับ เนื่องจากรัฐบาลมีความน่าเชื่อถือ จึงไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk free) แต่หุ้นกู้ซึ่งออกโดยบริษัทเอกชน มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ เพราะความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละบริษัทมีไม่เท่ากัน
ปัจจุบันในไทยมีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ 2 แห่งคือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS Rating) และ บริษัท ฟิทช์เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (Fitch Rating Thaland)
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ
• Investment Grade (กลุ่มระดับลงทุน)
เริ่มตั้งแต่ AAA หมายถึง อันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด ไล่ลงมาจนถึงระดับ BBB มีอันดับความน่าเชื่อถือปานกลาง
• Speculative Grade (กลุ่มที่ลงทุนเพื่อการเก็งกำไร)
เป็นตราสารหนี้ที่จะให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งจะมีเรทติ้งตั้งแต่ BB ลงมาจนถึง D ซึ่งเป็นตราสารที่อยู่ในสถานะผิดนัดชำระหนี้ ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นได้ตามกำหนด
ความผันผวนของราคา
มูลค่าของตราสารหนี้และอัตราดอกเบี้ยมีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันกัน ดังนั้น ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ควรลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อลดโอกาสการขาดทุนจากราคาที่ต่ำลง และเมื่ออัตราดอกเบี้ยขาลง ควรเลือกลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อรับผลประโยชน์จากราคาที่เพิ่มขึ้น
สภาพคล่องในตลาด
ตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ค่อยมีสภาพคล่องในตลาด กรณีที่ผู้ลงทุนต้องการขายตราสารหนี้แบบรายตัว อาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะขายได้ หรือถ้าขายได้ก็อาจไม่ได้ราคาตามที่ต้องการ
ตราสารหนี้บางตัวก็มีกำหนดให้เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ หรือนักลงทุนสถาบันซื้อได้เท่านั้น และอาจมีกำหนดขั้นต่ำในการซื้อด้วยวงเงินที่สูง ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
สำหรับนักลงทุนรายย่อยแล้ว การลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ ที่ไม่ใช่กองทุนประเภทกำหนดระยะเวลา (Term Fund) จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่า เพราะใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการไปลงทุนเองโดยตรง และสามารถซื้อ-ขาย ได้ทุกวันตามเวลาทำการ ของบลจ