สรุป 5 ประเด็นจากหนังสือตีแตก ของ ดร. นิเวศน์ VI แห่งตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มนึงที่ผมเคยอ่าน และเชื่อว่าทุกคนก็เคยอ่านเช่นกัน นั่นคือ หนังสือเรื่อง “ตีแตก” ของ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing หรือ VI) คนสำคัญคนนึงของประเทศไทย หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2541 หลังจากเหตุการณ์ต้มยำกุ้งได้ 1 ปี
วิกฤติต้มยำกุ้งเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนขายหุ้นกันหมด แต่สิ่งที่นักลงทุนสไตล์ VI มองเห็นคือ หุ้นที่มีคุณค่าในตัวของมันกำลังอยู่ในราคาถูก จึงเป็น ‘โอกาส’ สำคัญในการเข้าซื้อ
นี่คือ 5 ประเด็นที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งในปี 2020 ท่ามกลางวิกฤติ Covid-19 นะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ หากชอบฝากแชร์ไปถึงนักลงทุนท่านอื่นด้วยครับ
ในช่วงเศรษฐกิจกำลังแย่ หุ้นราคาลง คงจะดีไม่น้อยหากเราใช้วิกฤตช่วงนี้ให้เป็นโอกาส ใครสนใจหุ้นราคาถูกๆ ผมสามารถแนะนำได้ครับ
1. เวลาจะอยู่ข้างเราเสมอ
บังเอิญว่า edition ของหนังสือที่ผมมีเป็น edition ที่ตีพิมพ์ในปี 2551 ซึ่งครบรอบ 11 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์ต้มยำกุ้งพอดี ในบทนำ ดร. นิเวศน์ ได้หยิบยกผลตอบแทนของพอร์ตมาเทียบผลตอบแทนของตลาดแบบ 11 ปีมาให้ดู หากคุณซื้อหุ้นที่ดีในปี 2540 แม้จะผ่านไปนานเท่าไหร่ ราคาของ ‘หุ้นที่มีคุณค่า’ ก็จะสะท้อนคุณค่าจริงของมันเสมอลองดูครับ VI ซื้อหุ้นกันทีถือยาวเป็น 10 ปี กำไรมันจะกลับมาเอง เพราะหุ้นที่มีคุณค่า ก็คือหุ้นที่มีคุณค่า
2. เงินในประเทศไม่เพียงพอให้บริษัทเติบโตได้ไกล
ในหนังสือ ดร.นิเวศน์ ได้พูดถึงกลุ่มธุรกิจประเภทต่างๆ ที่น่าสนใจ และมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ “ในภาวะเศรษฐกิจเลวร้ายขนาดนี้ บริษัทที่ขายสินค้าในประเทศเป็นหลัก โอกาสที่จะทำกำไรสูงนั้นยากมาก ส่วนใหญ่แค่ประคองตัวให้รอดพ้นวิกฤต ก็ถือว่าดีแล้ว จะมีก็แต่ธุรกิจส่งออกเท่านั้นที่จะทำกำไรและมีเงินสดเหลือมาก…” ผมเอาประโยคนี้มาคิดตาม ประเทศไทยมีจำนวนคนไม่ได้เยอะมาก การซื้อหุ้นของบริษัทที่มีลูกค้าหลักเป็นคนไทยน่าจะต้องพักก่อน เพราะคนไทยจะต้องประหยัดและไร้เงินสดไปสักพัก อย่างไรก็ตามจะถึงเวลาของประเทศอื่นที่ฟื้นตัวเร็ว พร้อมก้าวกระโดดดังนั้นให้มองหาหุ้นที่มีวิสัยทัศน์ที่จะขยายตลาดไปนอกประเทศ และมีความสามารถในการนำเงินดอลล่าร์เข้าประเทศให้ได้
3. การใช้หุ้นเป็นสื่อกลางในการเก็งกำไรเป็นเรื่องน่ากลัวให้ดู P/E เอาไว้
“หุ้นที่ค่า P/E สูง ถือว่าเป็นหุ้นแพง ส่วนหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำ ถือว่าเป็นหุ้นถูก” แม้ว่าสภาพคล่องของราคาหุ้นจะเป็นผลดีกับหุ้นเอง แต่การใช้หุ้นเป็นสื่อกลางในการเก็งกำไรเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะหน้าที่หลักของหุ้นคือการลงทุน สุดท้ายแล้วราคาจะกลับมาสู่พื้นฐานที่แท้จริง หากเจอหุ้นที่ P/E มีราคาสูงถึง 20 เท่า ในบริษัทที่มีอัตราการเติบโตเร็วไม่น้อยกว่า 20% ต่อปี ดร.นิเวศน์ก็ไม่สนใจ เพราะมองว่าหากอัตราการเติบโตไม่ตรงตามเป้าจริง ราคาจะกลับมาสู่ความจริงอยู่ดี
4. การกระจายความเสี่ยง
แม้ว่าหนังสือตีแตกเล่มนี้จะมีประเด็นหลักอยู่ที่การซื้อหุ้นที่มีคุณค่า แต่ในบทท้ายๆ ดร.นิเวศน์ ยังกล่าวว่าการกระจายการลงทุนเป็นเรื่องที่นักลงทุกคนควรพิจารณาเช่นกัน ไม่ใช่แค่การกระจายการลงทุนในพอร์ต แต่เป็นการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น การลงทุนในที่ดิน ทองคำเงินฝาก และของสะสมต่างๆ
5. ตีแตก
ตรงตามชื่อหนังสือเลยครับ ตีแตกในความหมายของ ดร.นิเวศน์ ท่านกล่าวว่า ตีแตกเป็นการเล่นไพ่ประเภทนึง ท่านมองว่าการลงทุนก็คล้ายกับการพนันประเภทนึงเช่นกัน เพราะมันอาจเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นมาที่จะทำให้ ‘ได้เงิน’ หรือ ‘เสียเงิน’ ก็ได้ ซึ่งตามประสบการณ์ของ ดร. ก็มีทั้งได้ทั้งเสียเช่นกัน สิ่งที่ผมสังเกตอย่างนึงคือ การซื้อ-ขายแต่ละครั้งของท่านค่อนข้างรอบคอบมาก แต่ในบางครั้งก็ยังเกิดข้อผิดพลาดที่ทำให้สูญเสียเงินได้เช่นกัน เหมือนกับการเล่นไพ่ ‘ตีแตก’ ครับ
#nbukkamana #ณพวีร์ #เปโดร #พุกกะมาน
Line Official: @noppavee
FB Fanpage: www.facebook.com/bukkamana