“คุณคิดว่าเงินจำนวน 100 บาท ในปัจจุบัน และ 5 ปีก่อน มีค่าเท่ากันหรือเปล่า?”
แน่นอนว่าสำหรับคนที่อยู่ในวัยทำงาน คงจะไม่รู้สึกเช่นนั้นอย่างแน่นอน หากสังเกตุจากราคาของอาหารตามสั่งเมื่อ 5 ปีก่อน เมื่อเปรียบเทียบกับในปัจจุบันแล้วนั้น ดูเหมือนว่าเงิน 100 บาท จะไม่สามารถทำให้คุณอิ่มท้องได้เหมือนเมื่อก่อนเสียแล้ว โดยแม้ว่าการขึ้นราคาของสินค้า และบริการนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่หนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ราคาสิ่งของเครื่องใช้แพงขึ้นนั่นคือ ‘ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation)’ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วทุกมุมโลก และรอคอยการแก้ไข
และก่อนที่จะไปถึงวิธีป้องกันไม่ให้เงินในบัญชีของคุณต้องมลายหายไป Creative Investment Space จึงอยากจะขอปูพื้นฐานถึงความหมาย, สาเหตุ และผลกระทบของการเกิดเงินเฟ้อเสียก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าเงินเฟ้อนั้นส่งผลต่อตัวคุณทั้งทางตรง และทางอ้อมอย่างไรกันบ้าง
“ภาวะเงินเฟ้อคืออะไร?”
ภาวะเงินเฟ้อคือ ภาวะที่สินค้า และบริการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ‘ของแพงขึ้น’ นั่นเอง ดังนั้นการปล่อยให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมส่งผลต่อปากท้องของประชาชน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแล เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนจากภาวะข้าวยากหมากแพง
โดยในประเทศไทยหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงก็คือ ‘กระทรวงพานิชย์’ ผู้ดูแลด้านราคาของสินค้า และบริการไม่ให้แพงเกินไป และ ‘ธนาคารกลาง’ ที่ใช้นโยบายทางการเงินที่เรียกว่า ‘อัตราดอกเบี้ยนโยบาย’ และ ‘การควบคุมปริมาณของเงินในระบบ’ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และไม่ผันผวนจนเกินไป โดยเชื่อว่าการปล่อยให้เกิดอัตราเงินเฟ้อเล็กน้อย จะช่วยให้สภาพเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างเหมาะสม
ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดเงินเฟ้อนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมด 3 ประการ ได้แก่
1. ความต้องการในการซื้อสินค้า และบริการของประชาชนเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation)
การที่สินค้า และบริการไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ผู้ขายทำการปรับขึ้นราคาตามกลไกของตลาด
2. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost-Push Inflation)
การที่ราคาค่าแรง และต้นทุนดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จึงทำการขึ้นราคาสินค้า และบริการ
3. นโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย (Expansionary Fiscal Policy)
หรือคือการกำหนดนโยบายที่มีผลกระทบต่อเงินในระบบของประเทศ ผ่านการใช้อัตรานโยบายดอกเบี้ยที่ช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของธนาคาร ทำให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้ให้กับเอกชนได้มากขึ้น หรือการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing/QE) การเพิ่มเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยหวังกระตุ้นให้ประชาชนหันมาจับจ่ายใช้สอยเงินเพื่อให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้น โดยส่วนมากแล้วนั้น นโยบายการคลังแบบผ่อนคลายจะถูกใช้ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศมีการหดตัว
ดังนั้นเมื่อสินค้า และบริการปรับตัวขึ้นสูงขึ้นส่งผลให้เงินในกระเป๋าของคุณนั้นสามารถจับจ่ายใช้สอย ซื้อสิ่งของได้น้อยลง หรือพูดง่ายๆ คือ เงินของคุณด้อยมูลค่าลงนั่นเอง ดังนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อมากที่สุดคือ ‘บุคคลที่ได้รับรายได้เท่าเดิม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้นตลอดเวลา’
ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้ ในเมื่อเงินของเรากำลังด้อยมูลค่าลง สิ่งที่จำเป็นจะต้องทำเพื่อรักษาความมั่งคั่งของคุณไว้ได้คือ ‘การหารายได้ให้มากขึ้น’ ซึ่งทางเลือกที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ ‘การลงทุนนั่นเอง’
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจึงมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนให้เรามีเงินมากขึ้นกว่าเดิม หรืออย่างน้อยต้องเท่ากับมูลค่าของเงินที่สูญเสียไปจากเงินเฟ้อ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในสิ่งใดจะต้องคำนวนหา ‘อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนที่แท้จริง (Real interest rate)’ เพราะต้องอย่าลืมว่าผลตอบแทนที่เราได้จากการลงทุนนั้นจำเป็นจะต้องนำมาหักลบกับ ‘อัตราเงินเฟ้อ (Interest rate)’ นักลงทุนจะได้เลือกสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้
ยกตัวอย่างเช่น หากอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร A อยู่ที่ 2% ต่อปี และในปี 2564 อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.23% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของคุณจะอยู่ที่ 0.77% เท่านั้น นันหมายความว่าภายในปี 2564 หากอัตราผลตอบแทนการลงทุนของคุณอยู่น้อยกว่า 1.23% จะทำให้เงินที่คุณลงทุนไปด้อยมูลค่าลงอยู่ดี โดยสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมในการลงทุนเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อก็ได้แก่ ทองคำ, หุ้น, คริปโตเคอร์เรนซี่, กองทุนรวม,พันธบัตรรรัฐบาล และอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากสำหรับนักลงทุน ในการติดตามแนวทางการกำหนดนโยบายทางการเงิน และสภาพเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนอกจากเพื่อให้ทราบถึงอัตราเงินเฟ้อแล้วนั้น การขึ้นลงของราคาสินทรัพย์บางตัวยังขึ้นอยู่ปัจจัยเหล่านี้อีกด้วย นักลงทุนจึงควรที่จะต้องศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างรอบด้าน เพื่อที่จะได้ ‘ตั้งเป้าหมาย’ และ ‘วางแผนลงทุน’ ของตัวเองให้เหมาะสม
ที่มา:
https://www.blockdit.com/posts/60505a8945e06509dcca3b37
https://www.investopedia.com/articles/investing/081315/9-top-assets-protection-against-inflation.asp
https://www.bot.or.th/App/FinancialLiteracy/ExchangeRate/01_01_contentdownload_inflation.pdf
https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/226-the-effect-of-inflation-to-investment-asset
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/how-to-invest-win-inflation.html