ผู้ที่เริ่มลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี่ย่อมรู้ และเข้าใจดีกว่าสิ่งที่ทำให้มูลค่าของเหรียญคริปโตฯ พุ่งสูงขึ้นได้ก็คือ ‘Use Case’ หรือ อรรถประโยชน์การใช้งานของตัวเหรียญ โดยในปัจจุบันนั้นเราจะเห็นเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมากมายมหาศาล แต่เหรียญที่ปราศจากการใช้งานในเชิง Practical ย่อมทำให้อายุไขของเหรียญตัวนั้นไม่ยั่งยืนอย่างแน่นอน
.
ในครั้งนี้ Creative Investment Space จะมาพูดถึงหนึ่งในเหรียญคริปโตที่มี Use Case ที่น่าสนใจ เพราะเป็นเหรียญของบล็อกเชนที่มีความตั้งใจที่จะรวบรวมบล็อกเชนหลายๆ ให้รวมอยู่ในระบบนิเวศของตัวเอง เพื่อให้แนวทางในการพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกับสร้างระบบนิเวศการใช้งานที่เอื้อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานบล็อกเชนต่างๆ ได้อย่างง่ายดายมากขึ้นกว่าที่เคย และชื่อของบล็อกเชนที่มีเป้าหมายสุดแสนจะทะเยอทะยานนั้นมีชื่อว่า Polkadot ฐานข้อมูลกระจายศูนย์ที่สร้างขึ้นโดย เกวิน วูด (Gavin Wood) อดีตผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum นั่นเอง
.
ในปัจจุบันนั้นโลกของเราได้มีฐานข้อมูลกระจายศูนย์อย่างบล็อกเชนที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่งบล็อกเชนแต่ละตัวนั้นก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น Ethereum หรือ Cardano ซึ่งก็มีนักพัฒนาเข้ามาใช้งานฐานข้อมูลกระจายศูนย์เหล่านี้ ในการพัฒนาแอพลิเคชั่นไร้ตัวกลางหรือ Dapps เพื่อสร้าง Use case ให้กับเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ต่างๆ
.
และแม้ว่า Ethereum จะเป็นบล็อกเชนสาย Smart Contract อันดับหนึ่งที่มีผู้ใช้งาน Dapps อยู่อย่างมากมาย แต่เนื่องจากเป็นบล็อกเชนที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าบล็อกเชน Smart Contract ตัวอื่นๆ แม้ว่าจะมีจุดเด่นในด้านความปลอดภัย และความกระจายศูนย์ แต่กลับมีการทำธุรกรรมที่ช้า ,ต้นทุนสูง และที่สำคัญคือ Ethereum นั้นยังคงมีปัญหาด้าน ‘ความสามารถในการทำงานร่วมกัน (interoperability)’ กับบล็อกชนที่เกิดขึ้นมาใหม่ และ Polkadot ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา ณ จุดนี้นั่นเอง
.
ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับ Ethereum เพียงเท่านั้น ในปัจจุบันการทำงานระหว่างบล็อกเชนยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นก็คือ ‘การใช้งานระบบปฏิบัติการ MacOS จะมีปัญหาในการรันโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นสำหรับระบบปฏิบัติการ Window และทาง Window เองก็จะไม่สามารถใช้งานโปรแกรมของ MacOS ได้’ นี่จึงเป็นข้อจำกัดของบล็อกเชนในปัจจุบันที่ผู้ใช้งานต้องประสบพบเจอ หากต้องการจะทำธุรกรรมข้ามบล็อกเชน ซึ่ง Polkadot จะเป็นบล็อกเชนที่ทำหน้าที่คล้ายกับตัวแปรภาษาให้แต่ละบล็อกเชนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น
.
Polkadot นั้นเป็นบล็อกเชนที่มี Consensus แบบ Proof of Stake ที่ถูกสร้างขึ้นโดย Gavin Wood ที่มองว่าบล็อกเชนแต่ละตัวนั้นมีข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกันไป จึงต้องการที่จะเชื่อมต่อบล็อกเชนเหล่านี้เข้าด้วยกัน โดยออกแบบโครงสร้างของ Polkadot ในรูปแบบของ Sharded Blockchain หรือการแบ่งส่วนหน้าที่ของบล็อกเชนให้ทำหน้าที่แตกต่างกันไว้ทั้งหมด 5 ส่วน
1. Relaychain
หัวใจหลักของ Pokaldot ซึ่งเป็น Chain ที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับเชื่อมต่อ Chain ย่อยภายในอื่นๆ
2. Parachain
Chain คู่ขนานกับ Parachain ที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถสร้างสกุลเงินดิจิทัลหรือเขียนฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ของเหรียญ
3. Collactors
ผู้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการประมวลผลข้อมูลที่เรียกว่า Shard ก่อนที่จะนำส่งข้อมูลดังกล่าวเพื่อไปตรวจสอบความถูกต้องโดย Node Validators ต่อไป
4. Validators
ผู้ตรวจสอบ และทำหน้าที่รับรองความถูกต้องของข้อมูล โดยผู้ที่จะได้สิทธิเป็น Validators จำเป็นที่จะต้องมีเหรียญ Dot ตามจำนวนที่กำหนด และข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจะถูกส่งต่อไปยังเครือข่าย Relaychain อีกครั้งหนึ่ง
5. Bridges
สะพานที่ใช้เชื่อมต่อ Polkadot ร่วมกับบล็อกเชนทุกที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลจากบล็อกเชนตัวอื่นๆอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum จะถูกนำมาบันทึกไว้ใน Relaychain ด้วย
.
จากโครงสร้างการทำงานที่ได้กล่าวไปทั้งหมด ทำให้ Polkadot นั้นเป็นบล็อกเชนที่มีความยืดหยุ่นในการทำงานที่สูงมาก เพราะมี Parachain ที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถที่จะปรับแต่งฟังก์ชันการทำงานต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่ว่าสิ่งที่นักพัฒนาสร้างขึ้นจะถูกตัดสินว่าควรจะนำไปใช้ต่อไปหรือไม่จากผู้ที่ถือเหรียญ Dot ทุกคนในเครือข่าย เพื่อคงความสามารถในการทำงานอย่างกระจายศูนย์ได้อยู่
.
อีกทั้งยังสามารถที่จะอัพเกรดระบบทุกอย่างได้อย่างเต็มที่ทั้งในส่วนของ Smart Contract, แนวทางการกำกับดูแลหรือระบบ Consensus อีกด้วย
.
แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นของ Polkadot ที่แตกต่างจาากบล็อกเชนเจ้าอื่นๆ ที่เคยมีมาเลยก็คือ ‘ความสามารถในการทำงานร่วมกับบล็อกเชนอื่นๆ’ โดยหากบล็อกเชนที่ถูกพัฒนาและสร้างขึ้นมาใหม่ยังคงไม่สามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายอื่นได้อย่างอิสระ Polkadot จะเชื่อมโยงบล็อกเชนต่างๆ เข้าหากันผ่านการใช้ Parachaiin พร้อมกับเชื่อมต่อกับบล็อกเชนอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้วในอดีตอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum ด้วยการ Bridge ไปมาหากันอย่างอิสระ
.
ดังนั้นเหรียญประจำบล็อกเชน Pokaldot อย่างเหรียญ DOT นั้นจึงเป็นทางเลือกการลงทุนอีกทางหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่เน้นคุณค่าการใช้งานของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ ที่แม้ว่าในปัจจุบันจะอยู่ในทิศทางขาลง แต่ในระยะยาวหากเทคโนเลยีบล็อกเชนเข้าสู่ช่วง Mass adoption จึงมีแนวโน้มว่า DOT จะเป็นอีกเหรียญหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างมหาศาลในอนาคต
Reference:
https://polkadot.network/technology/
https://www.fool.com/the-ascent/cryptocurrency/articles/should-you-or-anyone-buy-polkadot/