หนึ่งในวิกฤติที่ทุกคนน่าจะรู้สึกได้ และทำให้การใช้ชีวิตของหลายคน หนืดๆ ฝืดๆ ไป นั่นก็คือ การที่สินค้าอุปโภคบริโภคแข่งกันขึ้นราคา ทั้งน้ำมัน ของใช้ในชีวิตประจำวัน และอาหาร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อมนุษย์ ที่ยังต้องกินต้องใช้แบบเราโดยตรง
.
วันนี้เราจะพาทุกคนมาจับตามองวิกฤตินี้ และดูที่มาที่ไป ผลกระทบที่มีต่อทั้งในและนอกประเทศ เพื่อเข้าใจสถานการณ์ และมองหาโอกาสในการลงทุนจากวิกฤตินี้กัน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตอาหารแพง
- สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก เช่น ข้าวสาลี คิดเป็น 30% ของตลาดโลก น้ำมันพืชจากเมล็ดดอกทานตะวัน คิดเป็น 80% ของตลาดโลก ข้าวโพด คิดเป็น 19% ของตลาดโลก
- ราคาปุ๋ยแพง เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการทำปุ๋ยรายใหญ่ประกาศระงับการส่งออกปุ๋ยไปต่างประเทศ
- ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้มีการโหมปลูกพืชพลังงานทดแทนซึ่งเบียดบังพื้นที่เพาะปลูกอาหาร
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน ทำให้ผลผลิตตกต่ำ เช่น อินเดียเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง พื้นที่พื้นที่ปลูกข้าวสาลีในจีนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และไฟไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมของแคลิฟอร์เนียและยุโรปตอนใต้
- การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งและการค้าหยุดชะงัก
ผลกระทบวิกฤตอาหารโลก
- องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล ดัชนีราคาอาหารพุ่งขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนเมษายน 2565 และธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ปี 2565 ราคาสินค้าทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้น 37% สูงสุดในรอบ 60 ปี
- ผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่รายได้น้อย เพราะการซื้ออาหารคิดเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด จากข้อมูลของธนาคารโลก ผู้คน 10 ล้านคนถูกผลักให้เข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกสำหรับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 เปอร์เซ็นต์
- เมื่อราคาอาหารสูงขึ้น แต่ประชาชนยังมีรายได้เท่าเดิมหรือน้อยลง นำไปสู่ปัญหาความอดอยากและขาดสารอาหาร ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลา
- ในประเทศเอเชียแปซิฟิก FAO ระบุว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอาหารแพงและการขาดแคลนอาหารมากถึง 1,800 ล้านคน และยังมีคนเป็นโรคขาดสารอาหารที่เรียกกันว่า โรคผอมแห้ง มากถึง 40 ล้านคน เพิ่มจาก 31 ล้านคนเมื่อปีที่ผ่านมา
- ความไม่มั่นคงทางอาหารเป็นสาเหตุของความไม่สงบทางสังคมและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นมักก่อให้เกิดการประท้วง และอาจลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองในอนาคต
ผลกระทบในประเทศไทย
- ในเดือน มีนาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินเฟ้อเท่ากับ 104.79 เพิ่มขึ้น 5.73% ถือเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551 สาเหตุมาจากราคาน้ำมัน สูงขึ้นถึง 31% ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น 40 % รวมถึงราคาอาหาร โดยเฉพาะผักสด เพิ่มเกือบ 10 % เนื้อหมู เนื้อไก่ เพิ่มขึ้น 5.74 % ไข่ไก่ ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เพิ่มขึ้น 6 %เพราะวัตถุดิบราคาอาหารสัตว์ก็แพงมากขึ้นเรื่อยๆ
- ร้านค้าหลายร้านต้องติดป้ายขอขึ้นราคาอาหารเนื่องจากวัตถุดิบแพงขึ้นจนไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่ราคาขายแบบเดิมได้
- นอกจากราคาอาหาร แก๊สหุงต้ม LPG ค่าโดยสารรถสาธารณะ ค่าทางด่วน ก็ปรับราคาขึ้นตาม
ในแง่ดี ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลก จึงมีความพอเพียงของอาหารในการบริโภคภายในประเทศ และหากมองในมุมวิกฤตที่เกิดขึ้นถือเป็นโอกาสดีในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร การส่งออกสินค้าเกษตร 4 เดือนแรก ปี 2565 (มกราคม – เมษายน 2565) เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยสินค้าเกษตรไทย สามารถส่งออกไปโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.22
การแก้ไขปัญหาระดับสากล
- ธนาคารโลกได้ประกาศแผนรับมือวิกฤติความมมั่นคงด้านอาหารโลก โดยอัดฉีดงบประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่โครงการด้านเกษตรกรรม, โภชนาการ, การคุ้มครองทางสังคม, น้ำ และการชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดช่วง 15 เดือนข้างหน้า และขอความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการรับมือกับวิกฤติความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ พยายามเพิ่มปริมาณพลังงานและผลผลิตปุ๋ย ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มอัตราการเพาะปลูกและปริมาณผลผลิต รวมถึงยกเลิกนโยบายระงับการส่งออกและนำเข้า
- คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปหรืออียู ก็กำลังทบทวนร่างนโยบายการปฏิรูปเกษตรกรรมครั้งใหญ่ระหว่างชาติสมาชิกอียู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
- รัฐบาลแถบละตินอเมริกา รวมไปถึงประเทศคาบสมุทรแคริบเบียนรวม 17 ชาติ ได้จัดประชุมเกี่ยวกับอาหารร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้วิกฤติที่กำลังรุมเร้า โดยลงนามข้อตกลงเพื่อส่งเสริมภาคเกษตรในภูมิภาคและให้ธนาคารเอกชนปล่อยกู้ในภาคเกษตรสูงถึง 10% ของวงเงินและสินทรัพย์ที่มีและยังวิจารณ์กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่อุดหนุนภาคเกษตร จำกัดการเผยแพร่เทคโนโลยีจนส่งผลกระทบต่อชาติยากจน ข้อตกลงยังเรียกร้องให้ร่างแผนปฏิบัติการภายใน 30 วัน เพื่อเพิ่มผลผลิตอาหารท้องถิ่นในภูมิภาค จัดตั้งตลาดภายในและระหว่างประเทศ จำหน่ายสินค้าราคายุติธรรมต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค
Reference:
https://www.thansettakij.com/economy/526226
http://ftawatch.org/node/14011