หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉัน 7 ต่อ 2 ให้นางสาว แพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด หลังจากถูกยื่นคำร้องให้วินิจฉัยสถานภาพของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 และ 170 จากกรณีคลิปเสียงสนทนากับ สมเด็จฮุน เซน ที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ว่า อาจมีเนื้อหากระทบต่ออธิปไตยไทย และพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือ ตลาดหุ้นไทยภาคเช้าปิดตลาดที่ระดับ 1,092.13 จุด +2.57 จุด ส่วนหนึ่งของคำสั่งศาลอาจสร้างผลกระทบทางอารมณ์ของนักลงทุนกระทั่งสร้างกลไกในตลาดหุ้นให้มีกระแสบวกอีกครั้ง
ทว่า ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังคงน่าเป็นห่วง และจากคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นเท่ากับว่า ไทยกำลังอยู่ในห้วงสูญญากาศทางเศรษฐกิจหรือไม่ ท่ามกลางภาวะคาบลูกคาบดอก ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทั้งภายใน-ภายนอก เช่น สงครามการค้า และนโยบายทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวจากกำลังซื้อที่ลดลง และการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ นโยบายจากภาครัฐโดยเฉพาะนโยบายเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท ก็ไม่ได้สร้างให้เกิดแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง ทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงต่อความมั่นใจของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ
ขณะที่ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดกาใหญ่ มองว่า สถานการณ์ของรัฐบาลในเวลานี้จะเพิ่มความไม่แน่นอนระยะสั้นในระบบการเมือง นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอาจใช้ท่าที “Wait and See” ส่งผลให้การตัดสินใจลงทุนใหม่ชะลอตัว
ด้านความเชื่อมั่นของภาคเอกชน อาจเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการใหญ่ที่พึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ความเปราะบางทางการเมืองอาจเพิ่มแรงกดดันให้พรรคร่วมบางพรรคทบทวนจุดยืน หากเกิดการถอนตัวอาจนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรีหรือยุบสภาในที่สุด
แม้ว่านายกแพทองธาร จะถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ กระนั้นรัฐบาลยังคงมีอำนาจในการบริหารงาน โดยรักษาการรองนายก ยังคงสามารถสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 2568 ได้อย่างต่อเนื่อง ในโครงการที่ผ่านการอนุมัติแล้ว รวมไปถึงการเจรจาการค้าระหว่างประเทศอาจไม่กระทบในการเจรจาระยะสั้น
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะสร้างความไม่แน่นอน ทำให้แรงหนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐจะสะดุด เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณ หรือการอนุมัติโครงการต่าง ๆ อาจล่าช้าออกไป โดยเฉพาะงบประมาณลงทุนทางด้านภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจเพราะการส่งออกและท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงชะลอตัว ดังนั้นจะกระทบเศรษฐกิจในระยะสั้นตั้งแต่นี้ไปจนถึงปลายปีได้
และหากเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และพรรคร่วมยังเหมือนเดิม นโยบายต่าง ๆ น่าจะไปได้ แต่หากรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ไม่สามารถผ่านกฎหมายได้ และนำไปสู่การยุบสภา จะเป็นประเด็นที่น่ากังวล เพราะจะกระทบต่องบประมาณปี 2569 ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
ด้านนางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ทัศนต่อเรื่องนี้ว่า หากประเมินความผันผวนระยะสั้นไม่กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2568 แต่หากมีการยุบสภาโดยไม่ทันตั้งตัวจะถือเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด แต่ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณ อีกทั้งงบประมาณปี 2568 ยังคงเบิกจ่ายได้ แต่หากเป็นงบประมาณ 2569 จะชะลอออกไป
โดยเฉพาะการเจรจาภาษีการค้ากับสหรัฐไม่เป็นไปตามคาด ทำให้ไทยต้องเผชิญกำแพงภาษีสูงกว่าคู่แข่ง จะเป็นกรณีที่เลวร้ายมาก อาจทำให้ GDP เติบโตใกล้ 1.5% โดยมองว่าปัจจัยการเมืองจะเพิ่มความผันผวนกับค่าเงินบาทในระยะสั้น แต่ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตต่ำกว่า 1.5%
หากจะบอกว่า รัฐบาลแพทองธาร กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในทุกมิติ ก็คงไม่ผิดนัก ทั้งด้านเศรษฐกิจที่เดิมพันด้วยความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชน ความมั่นคงบริเวณชายแดน และความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ภาคเอกชน ทุกผลลัพธ์ล้วนมาจากการกระทำ หรือนี่อาจเป็นการตัดสินใจผิดตั้งแต่ติดกระดุมเม็ดแรกก็ว่าได้ เพราะหากมีความพยายามที่จะออกจากร่มเงาการบริหารงานของผู้เป็นพ่อ อดีตนายกฯ สถานการณ์โดยรวมอาจจะดีกว่านี้
แต่คงเป็นไปได้ยากเช่นกัน เมื่อคนเดินหมากและวางเกมกุมบังเหียนมาตั้งแต่แรก ก็คือคนในอดีต ที่พยายามจะกลับมาฟอกตัว ภายใต้นัยยะสำคัญที่เราต่างรู้กันดี