ศักราชใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในไม่กี่วันต่อจากนี้ นอกจากช่วงเวลาแห่งความสุข การเฉลิมฉลอง ของขวัญปีใหม่ที่หลายคนกำลังรอคอยนอกจากโบนัสแล้ว สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังน่าจะเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้น เพราะนี่จะเป็นกุญแจสำคัญของความต่อเนื่องทางธุรกิจ โอกาสใหม่ ๆ รายได้ และโอกาสในการเติบโต
หลังจากเผชิญหน้ากับปีที่ยากลำบาก ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกโดยตรง ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองของไทย การประลองสรรพกำลังของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจด้านกลยุทธ์ที่มีผลต่อการค้าและการลงทุน สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย
ขณะที่ปัจจัยที่จะทิ้งทวนช่วงเดือนสุดท้ายของปีคือ นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่หน้าเก่าของสหรัฐฯ อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศจะขึ้นกำแพงภาษีกับสินค้าที่นำเข้า ซึ่งไม่เฉพาะกับสินค้าจากจีนเท่านั้น
ล่าสุด กูรู เศรษฐกิจของไทย ดูจะมองและคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในศักราชหน้าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัว แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ที่เอนเอียงไปในทิศทางขาลง
เช่น ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวใกล้เคียง 3% แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงซึ่งมาจากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งนี้ยังมีปัจจัยบวกที่เอื้อต่อเศรษฐกิจไทย คือ ด้านการส่งออกมีสัดส่วน 50% ของจีดีพี โดยมีการส่งออกไปสหรัฐฯ เกือบ 10% ของจีดีพี จะพบความเสี่ยงจากนโยบายภาษีของทรัมป์
การท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2568 จะกลับมาเท่ากับก่อนการแพร่ระบาดโควิด ที่ 40 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวจะยังต่ำกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะมีความต่อเนื่องจนถึงกลางปีหน้าจากนโยบายแจกเงินหมื่น และนโยบายการเงิน ที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ คาดว่า แบงก์ชาติน่าจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปี 2568 เพราะภาวะเงินเฟ้อต่ำ ขณะเดียวกัน แบงก์ชาติยังส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ เพราะแบงก์พาณิชย์ต้องใช้เวลากับการแก้หนี้เสียที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่น้อย
และจากการที่ กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% จากการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ เงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปี 2568 มีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง ทิศทางเงินเฟ้อปี 2568 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของ กนงซ ที่ 1.3%
ด้านภาพรวมเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2568 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตที่ 2.4% ช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อย ปัจจัยของแรงส่งจะมาจากการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าใกล้ระดับก่อนโควิด ภาคการส่งออกคาดว่าจะโตช้าลงจากผลกระทบสงครามการค้า ทั้งทางตรงผ่านตลาดส่งออกสหรัฐ และทางอ้อมผ่านตลาดอื่น ๆ ที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจีน การลงทุนภาครัฐขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมาจากเม็ดเงินเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนมีการปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ที่หดตัว สรุปคือ ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังส่ง จากความแน่นอนของสงครามการค้า เศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลงโดยเฉพาะจีน และภาคการผลิตของไทยต้องเจอกับภาวะการแข่งขันสูงจากสินค้าจีนท่ามกลางขีดความสามารถที่ลดลง
ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะอยู่ที่ 2.6% ปัจจัยสนับสนุนมาจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงต่ำสุดในภูมิภาค และต่ำกว่าศักยภาพเดิมในอดีต
มองไปข้างหน้า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูงและความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ประกอบกับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด
นอกจากนี้แรงที่ส่งมาจากภาคการท่องเที่ยวและบริการลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น และการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงอานิสงส์จากการหันไปส่งออกเพื่อเลี่ยงเส้นทางการค้าของผู้ผลิตจีนไปยังสหรัฐฯ จะเริ่มลดลง
จากการประเมินของกูรูด้านเศรษฐกิจ ต้องบอกว่าศักราชใหม่ เศรษฐกิจไทยคงเผชิญกับความยากลำบากพอสมควร แม้จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากเครื่องจักรตัวเดิม ๆ อย่าง แต่ปัจจัยลบที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมจะฉุดให้เศรษฐกิจไทยร่วงได้ตลอดเวลา