Mintel บริษัทด้านข้อมูลระดับโลกเผยผลวิจัยในรายงาน Weight Management Diets – Thai Consumer – ปี 2024 พบว่าคนไทย 25% ระบุว่ามีน้ำหนักเกินหรืออ้วน มีเพียง 11% เท่านั้นที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และยังพบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ (69%) มากกว่าสุขภาพ (65%)
นอกจากนี้ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขยังพบว่าในปี 2566 คนไทยเกือบครึ่งหนึ่งต้องเผชิญปัญหาโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน และนั่นอาจส่งผลให้ GDP ของประเทศหดตัวถึง 4.9%
ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้นกับคนไทย ซึ่งไม่ได้ส่งผลแค่ต่อด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านเศรษฐกิจด้วย
ว่าแต่อ้วนแล้วมันส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้อย่างไร?
ผลิตภาพของแรงงาน
คนที่มีน้ำหนักเกิน หรือป่วยโรคอ้วนมักจะมีปัญหาสุขภาพตามมาอยู่เสมอ แม้อ้วนแล้วแข็งแรงจะมีอยู่จริงแต่ก็ไม่ใช่ทุกเคส เพราะงานวิจัยจำนวนมากพบว่าคนอ้วนอย่างไรก็มีความเสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน เส้นเลือดในสมองแตก ฯลฯ มากกว่า ทำให้อาจจะพูดได้ว่าในระยะยาวแล้ว อ้วนก็ไม่ได้แข็งแรงนั่นแหละ จึงทำให้คนอ้วนอาจต้องลาป่วยมากกว่า และด้วยปัญหาสุขภาพก็อาจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลิตผลที่ได้จากการทำงานน้อยลง
ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
ในประเทศที่รัฐบาลมีสวัสดิการด้านสาธารณสุขให้กับประชาชน งบประมาณด้านสาธารณสุขส่วนหนึ่งก็ถูกนำไปใช้จ่ายกับโรคอ้วนและโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ตามมา คิดเป็น 13.2% ของงบประมาณสาธารณสุขทั่วโลกหรือกว่า 29 ล้านล้านบาท
สำหรับภาคธุรกิจก็นับเป็นต้นทุนที่ต้องเสีย ทั้งจากต้นทุนประกันสุขภาพ และความเสียหายจากแรงงานที่ป่วยเรื้อรัง
สูญเสียทรัพยากรบุคคล
ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในประเทศไม่ใช่เงินหรือแร่อะไร แต่เป็นประชากรที่อาศัยและขับเคลื่อนประเทศนี่แหละ และโรคอ้วนคืออุปสรรคสำคัญที่เข้ามาทำลายทรัพยากรนี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเผยว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคอ้วนปีละกว่า 20,000 คน และองค์กรอนามัยโลกพบว่าทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากโรคอ้วนหรือเบาหวานอย่างน้อยปีละ 2.8 ล้านคน ในยุคปัจจุบันที่อัตราการเกิดต่ำแบบนี้ คนยิ่งเป็นสิ่งที่ทดแทนได้ยากมาก
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบางประเภท
การบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นอาจทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและฟาสต์ฟู้ดเพิ่มขึ้นในระยะสั้น แต่ทำให้ต้นทุนทางสุขภาพของสังคมเพิ่มขึ้นในระยะยาว
ส่วนอุตสาหกรรมสุขภาพและฟิตเนส แม้จะมีโอกาสทางธุรกิจที่ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพที่ตามมา แต่ผลลัพธ์ในภาพรวมเศรษฐกิจอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสียหายที่เกิดจากโรคอ้วนได้
ผลกระทบทางอ้อม
การเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน อาจทำให้ครอบครัวต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลอาจลดการบริโภคสินค้าและบริการอื่น รวมถึงการออมในระยะยาว และอาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนกลุ่มที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนสูงกว่า เพราะเข้าถึงอาหารสุขภาพและบริการด้านสุขภาพที่จำกัด ตามที่ข้อมูลจาก Mintel เผยว่าคนไทยจำนวนมากมุ่งมั่นกับการกินเพื่อสุขภาพ แต่เงินที่มีจำกัดเป็นอุปสรรคสำคัญ ส่งผลให้วงจรความยากจนดำเนินต่อไป
ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่ต้องเผชิญความเสี่ยงผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากโรคอ้วน ประเทศเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังต้องเผชิญกับปัญหานี้อย่างหนัก 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขกว่าปีละ 1.73 แสนล้านดอลลาร์
เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดว่า “อ้วนแล้วมันหนักหัวใคร” ข้อมูลนี้ก็คงพอเป็นคำตอบให้ได้ประมาณหนึ่ง
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอ้วนเขาผิด คนอ้วนเขาไม่ดี หรือต้องไปเบลมคนอ้วนกันหมด เพราะจริง ๆ แล้วสาเหตุที่คนอ้วนมันมาจากหลากหลายปัจจัยมาก ๆ ไม่ใช่แค่กินตามใจปากเท่านั้น อาจต้องพิจารณาทั้งนโยบายด้านสุขภาพ อาหาร ความรู้ด้านโภชนาการในประเทศ หรือแม้แต่วนกลับมาที่เศรษฐกิจเองที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถบริโภคของดี ๆ ได้ เรื่องนี้ก็ต้องเห็นใจกันหน่อย
อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่ได้แสดงถึงความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นโอกาสของภาคธุรกิจที่สามารถเข้ามาคว้าไว้ได้ ผ่านแคมเปญด้านสุขภาพ ทั้งในแง่ของการบริโภคอย่างเหมาะสมและการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ แต่ก็อย่าลืมว่าเรื่องราคาคงไม่ใช่สิ่งที่จะเข้ามาทำให้ฉาบฉวยแล้วกอบโกยไปได้ เพราะด้วยกำลังซื้อทำจำกัดทำให้ผู้บริโภคชาวไทยไม่ได้พร้อมจ่ายขนาดนั้น