สังคมเดือดกันใหญ่ พากันคอมเมนต์ถล่มการทำงานของตำรวจไทยว่าไร้ประสิทธิภาพและ “ลำเอียง” อย่างเห็นได้ชัด หลังจากดาราดัง ชาล็อต ออสติน ถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน 4 ล้านบาท และตำรวจสามารถจับหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องได้ภายใน 7 วัน ต่างจากเคสของประชาชนคนธรรมดาทั่วไปที่หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่คืบหน้า บางคนได้แค่ลงบันทึกประจำวัน และบางคนก็ถึงกับโดนตำรวจต่อว่าด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าเมื่อเสียงของประชาชนชัดเจนขนาดนี้ มันก็สะท้อนถึงการทำงานของตำรวจไทยที่ช่วยเหลือประชาชนได้ไม่ทั่วถึงอย่างที่ควร ซึ่งนั่นคือความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นการบ้านให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องไปปรับปรุงแก้ไข ทำอะไรสักอย่างให้เรื่องนี้มันเปลี่ยนสักที
ถึงอย่างนั้น ในเคสนี้ก็อาจต้องให้ความยุติธรรมกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเคสของชาล็อตบ้าง ว่าที่คดีคืบหน้าได้เร็วขนาดนี้ก็อาจไม่ใช่เพราะพลังดารา แต่เป็นเพราะความร่วมมือที่ดีของเหยื่อด้วย
บ่อยครั้งที่เราได้เห็นข่าวเหยื่อถูกมิจฉาชีพ “ดูดเงิน” อ้างว่าแค่รับสายโทรศัพท์ คุยไม่กี่คำ หรือแค่ตอบแชตเท่านั้น เงินในบัญชีก็หายเกลี้ยงทันที ซึ่งคำกล่าวอ้างเหล่านี้เป็นเพียงข้ออ้างแก้เขิน
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ออกมาให้ข้อมูลแล้วว่าการรับสายโทรศัพท์หรือตอบแชตแล้วถูกดูดเงินจากบัญชีนั้นเป็นไปไม่ได้ในทางเทคนิค รวมถึงในเชิงตรรกะเอง ถ้ามิจฉาชีพสามารถทำแบบนั้นได้จริงก็คงเลือกโทร. หรือทักไปหาเหยื่อที่เป็นมหาเศรษฐีดูดเงินร้อยล้านพันล้าน คงคุ้มกว่าเสียเวลามาสุ่มสายโทร. หาตาสีตาสาหรือพนักงานเงินเดือนเพื่อดูดเงินหลักหมื่นหลักแสน
ส่วนสิ่งที่เหยื่อหลายคนอายเกินกว่าจะบอกกับญาติ นักข่าว หรือแม้แต่ตำรวจก็คือ พวกเขากดลิงก์ต้องสงสัย โหลดแอปเถื่อน ให้ข้อมูลการเงินที่ละเอียดอ่อน หรือแม้แต่กดโอนไปให้มิจฉาชีพเองกับมือ ไม่ได้จบแค่รับสายหรือตอบแชตอย่างที่บอกในข่าว พฤติกรรมเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสาเหตุของการถูกโกง แต่ผู้เสียหายหลายคนไม่อยากเสียหน้า จึงไม่กล้าบอกความจริง ทำให้การสืบสวนของตำรวจยุ่งยากมากขึ้น จนหลายครั้งก็ไปต่อไม่ได้ ทำให้คดีไม่คืบหน้าอย่างที่ควร
ในเคสของคุณชาล็อตนอกจากจะเป็นที่สนใจของสังคมจนมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลอย่างเต็มที่ และความพอดีหลาย ๆ อย่างแล้ว ก็เป็นเพราะการให้ข้อมูลอย่างตรงไปมานี่แหละที่ทำให้สามารถติดตามคนร้ายได้อย่างรวดเร็วผิดหูผิดตา
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเหยื่อคดีที่ไม่คืบหน้าจะไม่ให้ความร่วมมือทุกราย หลายคนก็ตอบคำถามและให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่ และหมั่นติดตามอยู่เสมอ ถึงขนาดรู้ชื่อเจ้าของบัญชีม้าและผู้เกี่ยวข้องแล้ว กระนั้นก็ยังไม่มีการจับกุมและสืบสวนเพิ่มเติม จนกลายเป็นเคสที่ถูกแช่แข็งและหล่นหายไปในที่สุด นั่นหมายถึงเจ้าหน้าที่เองก็จำเป็นต้องหาวิธีในการดูแลเคสของประชาชนให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ด้วย
ทั้งนี้ถ้าเรามาดูข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยอดแจ้งความคดีฉ้อโกงออนไลน์ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤศจิกายน 2567 มีจำนวน 739,494 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 77,360,070,295 บาท เฉลี่ยความเสียหายวันละ 77 ล้านบาท โดย 5 อันดับแรกคือคดีประเภท หลอกซื้อขายสินค้า หลอกโอนเงินทำงาน ข่มขู่ทางโทรศัพท์ หลอกให้กู้เงิน และหลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล ซึ่งเป็นประเภทคดีที่เหยื่อเป็นคนโอนเงินไปเองทั้งนั้น นั่นหมายความว่าสาเหตุหลัก ๆ มันไม่ได้มาจากวิทยาการไอเทคอะไรที่มิจฉาชีพใช้ดูดเงินเหยื่อเลย แต่มันเป็นเรื่องของความรู้ไม่เท่าทันของเหยื่อทั้งนั้น และนี่ต่างหากที่เป็นปัญหาจริง ๆ
จึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับทุกฝ่ายทั้งตำรวจและประชาชนที่จะต้องสร้างความรู้เท่าทันภัยฉ้อโกงนี้ขึ้นมาให้ได้ เพื่อไม่ให้คนไทยต้องตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมากไปกว่านี้