นิสสัน (Nissan) กำลังได้รับอยู่ในสถานการณ์คับขันที่อาจต้องล้มจนเหลือแค่ตำนานในเวลาอีกแค่หนึ่งปี แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นที่อยู่มานานกว่า 90 ปี แต่นี่อาจเป็นเฮือกสุดท้ายของนิสสัน หลังผลประกอบการและสภาพคล่องอยู่ในขั้นวิกฤต
จากการเปิดเผยรายได้ครึ่งปีแรกของนิสสันในปี 2024
– ยอดขายสุทธิ: 5,984.2 พันล้านเยน ลดลง 1.3% จากปีก่อน
– รายได้สุทธิ: 19.2 พันล้านเยน ลดลง 93.5% จากปีก่อน
– และในไตรมาส 3 ขาดทุนสุทธิกว่า 9.3 พันล้านเยนจากที่ปีก่อนเคยกำไรกว่า 1.9 แสนล้านเยนในไตรมาสเดียวกัน
สถานะทางการเงิน
– สินทรัพย์รวม: 18,889.1 พันล้านเยน ลดลงจาก 19,855.2 พันล้านเยน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2024
– หนี้สินรวม: 12,605.6 พันล้านเยน ลดลงจาก 13,384.6 พันล้านเยน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2024
– สินทรัพย์สุทธิ: 6,283.4 พันล้านเยน ลดลงจาก 6,470.5 พันล้านเยน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2024
นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นที่เรียกว่าเป็นหัวใจสำคัญของนิสสัน อย่าง เรโนลต์ กรุ๊ป (Renault Group) ก็ได้ทยอยขายหุ้นคืนมาแล้ว 3 ครั้งติดตั้งแต่พฤศจิกายน 2023 จนล่าสุดกันยายน 2024 เรโนลต์กรุ๊ปถือหุ้นนิสสันเพียง 35.71% จาก 43.4% จนพนักงานระดับสูงของนิสสันถึงกับให้ข่าวว่า “เราเหลือเวลาอีกแค่ 12 ถึง 14 เดือนเพื่อเอาตัวรอด”
นิสสันมาถึงจุดตกต่ำขนาดนี้ได้อย่างไร?
จุดเริ่มต้น
นัสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) เริ่มทำธุรกิจด้วยชื่อนี้ในปี 1933 แต่ตัวธุรกิจเองเริ่มมาตั้งแต่ปี 1911 โดยผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่นในโตเกียว และมีการควบรวมธุรกิจหลายครั้งจนมาอยู่ภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง นิฮอน ซันเกียว (Nihon Sangyo) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อนิสสัน และเข้าตลาดหุ้นโตเกียวในปี 1934
บริษัทโด่งดังจากการปั้นแบรนด์รถยนต์ ดัตสัน (Datsun) ซึ่งเน้นส่งขายในอเมริกาและได้รับความนิยมอย่างมากจนถูกนำเข้าเป็นอันดับต้น ๆ ต่อมาในปี 1983 ก็ได้ทำการรีแบรนด์ครั้งใหญ่เปลี่ยนมาใช้ชื่อแบรนด์ Nissan อย่างเต็มตัว (ทำให้หลายคนลืมดัตสันไปเลยด้วยซ้ำ)
ต่อมานิสสันก็ได้เริ่มพัฒนาแบรนด์รถหรูตีตลาดอเมริกาในชื่อ อินฟินิตี้ (Infiniti) ในปี 1989 ช่วงเวลาเดียวกับที่คู่แข่งร่วมชาติอย่าง โตโยต้า (Toyota) เริ่มแตกแบรนด์ เลกซัส (Lexus) ผลิตรถพรีเมียมขายในอเมริกาเหมือนกัน
วิกฤติแรก
หลังจากนั้นนิสสันก็เริ่มเข้าสู่วิกฤติครั้งแรก ในยุค 90s นิสสันได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและค่าเงินเยนแข็งค่าหนัก แต่นอกจากนั้นก็คือการบริหารที่ย่ำแย่และความสามารถในการแข่งขันต่ำ รวมทั้งการขาดนวัตกรรม ยุค 90s คือช่วงเวลาที่รถ เอสยูวี (SUV) ได้รับความนิยมสูง แต่นิสสันก็ปล่อยให้โอกาสหลุดลอย
นิสสันยอดขายตก มีหนี้สะสมกว่า 35 พันล้านดอลลาร์ จนในตอนนั้นถึงกับมีการคาดการณ์การว่านิสสันจะต้องล้มละลายแล้วด้วยซ้ำ
จนกระทั่งการเข้ามาของเรโนลต์ที่ตอนนั้นยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายเล็กในฝรั่งเศส เข้ามาอุ้มด้วยการจ่าย 5.4 พันล้านดอลลาร์ซื้อหุ้นนิสสัน 37% และส่ง คาร์ลอส กอส์น (Carlos Ghosn) เข้ามาบริหารในตำแหน่ง CEO ใช้กลยุทธ์ลดต้นทุนและพัฒนาสินค้าจนทำให้นิสสันกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง แม้จะต้องปิดโรงงาน 5 แห่งในญี่ปุ่นและปลดพนักงานกว่า 14%
อย่างไรก็ตามด้วยทรัพยากรณ์และความร่วมมือจากเรโนลต์ นิสสันกลับมาผงาดอีกครั้ง และถึงกับซื้อหุ้น มิตซูบิชิ 34% ในปี 2016 เพื่อผนึกกำลังในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเติบโต
วิกฤติล่าสุด หรือ สุดท้าย?
“แม่สร้างขวัญได้ แม่ก็ทำลายขวัญได้” นี่คงเป็นวลีดังที่นิสสันฟังแล้วต้องเจ็บ เพราะกอส์น คนที่ช่วยชีวิตนิสสันไว้ ก็กำลังกลายเป็นคนเดียวกันที่จะทำให้นิสสันต้องเข้าสู่วิกฤติอีกครั้ง หลังจากที่กอส์นตัดสินใจลงจากตำแหน่ง CEO ในปี 2017 หนึ่งปีให้หลังเขาก็ถูกจับฐานยักยอกทรัพย์บริษัท แต่ช่วงประกันตัวในปี 2019 ก็ได้แอบหนีไปกบดานที่เลบานอน ก่อนที่ในปี 2023 จะยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนิสสันเป็นเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ พร้อมปฏิเสธว่าที่เขาถูกกล่าวหาไม่เป็นความจริง
ปัญหาซ้ำซ้อนคือ CEO คนใหม่ที่มารับช่วงต่อจากกอส์นในปี 2017 ฮิโรดตะ ไซกาวะ (Hiroto Saikawa) ก็ยอมรับว่าเขาได้รับค่าตอบแทนเกินจริง ประมาณ 9 แสนดอลลาร์ หรือราว 30 ล้านบาท และถูกปลดจากตำแหน่งในปี 2019 ซึ่ง มาโกโตะ อูจิดะ (Makoto Uchida) CEO คนปัจจุบันก็ได้เข้ามารับช่วงต่อแทน
ปัญหาการฉ้อโกงภายในที่อื้อฉาวของนิสสันสร้างแผลใหญ่ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อธุรกิจ นักลงทุนขาดความมั่นใจจนมูลค่าหุ้นหดหาย และทำให้การบริหารไม่เป็นไปในทิศทางที่เติบโตต่อเนื่อง เมื่อต้องแข่งขันในตลาดที่เดือดขึ้นจากการเข้ามาของ EV ยอดขายจึงไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง ลดลงต่อเนื่องตลอดหลายปีมานี้ โดยเฉพาะในจีน และแม้ในสหรัฐจะกลับมาดีในขึ้นปี 2023 แต่ยอดขายล่าสุดนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ายังคงไม่แน่ไม่นอน
ดิ้นรนให้อยู่รอด
ด้วยปัญหาคาค้างคาและการแข่งขันที่ดุเดือด นิสสันจำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่รอด ด้วยการกลับไปใช้วิธีเดิมอย่างการลดต้นทุน อูจิดะประกาศว่าบริษัทเตรียมลดกำลังการผลิตลง 20% พร้อมปลดและลดตำแหน่งพนักงานกว่า 9,000 อัตรา รวมถึงตัวเขาเองก็รับเงินเดือนน้อยลง 50% เพื่อแสดงความรับผิดชอบร่วมกับพนักงาน
นอกจากนี้นิสสันยังได้ขายหุ้นมิตซูบิชิ ลดสัดส่วนการถือครองจาก 34% เป็น 24% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัท แต่จะยังพัฒนารถยนต์ร่วมกับมิตซูบิชิต่อไป
ด้วยกลยุทธ์นี้นิสสันคาดการณ์ว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายไปกว่า 3 พันล้านดอลลาร์
อูจิดะกล่าวว่า “มาตรการการฟื้นฟูเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าบริษัทกำลังหดตัวลง นิสสันจะปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความกระชับและยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมทั้งปรับโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและยืดหยุ่น”
เมื่อเดือนสังหาคมที่ผ่านมา นิสสันยังได้ลงนามใน MOU กับ ฮอนด้า (Honda) เพื่อร่วมพัฒนารถ EV และ ไฮบริด (Hybrid) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่ฮอนด้าจะเข้ามาถือหุ้นบางส่วน เนื่องจากนิสสันเองก็ต้องการปรับโครงสร้างและแก้ไขปัญหาทางการเงินอยู่แล้ว