“ถึงทุจริต EA ก็ยังมีต้นทุนต่ำที่สุด และเราไม่เหมือน STARK แน่นอน” นี่คือคำพูดของ สมโภชน์ อาหุนัย อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในมหาเศรษฐีไทยที่ร่ำรวยอย่างรวดเร็ว หลังนำ EA เข้าตลาดหลักทรัพย์ SET ในปี 2560 และเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 6 ในปี 2565 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 1.37 แสนล้านบาท เป็นบริษัทที่ได้รับการประเมิน ESG ในระดับ A แต่วันนี้เข้าถูกตลาดหลักทรัพย์ถอดออกจากดัชนีหุ้นยั่งยืน SETESG หลังถูกก.ล.ต.กล่าวโทษในข้อหาทุจริต มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท
จากมนุษย์เงินเดือนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 สมโภชน์ร่วมกับเพื่อน ๆ ลงทุนเข้าซื้อกิจการธุรกิจหลักทรัพย์ ก่อนก่อตั้งบริษัท ซันเทคปาล์มออยล์ จำกัด ในปี 2549 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 50 ล้านบาท หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด หรือ EA ทำธุรกิจพลังงานสะอาด ตั้งแต่ไบโอดีเซล พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ปี 2556 EA เข้าจดทะเบียนในตลาด mai และย้ายมา SET ในปี 2560 ภายใน 6 ปีหลังเข้าตลาดฯ ทรัพย์สินของ EA ทะยานสู่ระดับแสนล้านบาทเทียบชั้นตระกูลมหาเศรษฐีชื่อดังของไทย และได้รับการกล่าวขานจาก Bloomberg ว่าเป็น “Tesla of Thailand”
ฟ้าผ่าที่ EA บริษัทพลังงานแสนล้าน
เพียงไม่กี่วัน บริษัทที่มี Growth Story กลับเจอมรสุมอย่างหนัก ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผู้บริหารถูก Force Sell มาวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษนายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร EA และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 (ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด) และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส โดยปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2556 –2558 บุคคลทั้ง 3 รายได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท
วันที่ 14 กรกฎาคม 2567 EA แถลงการณ์ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าว สมโภชน์แจ้งลาออกจากกรรมการและผู้บริหาร เพื่อความโปร่งใส และให้เกิดการตรวจสอบอย่างเป็นธรรม
วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 EA แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรับโครงสร้างกรรมการและผู้บริหาร ตั้ง สมใจนึก เองตระกูล ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานกรรมการบริหาร มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2567 วันเดียวกับที่ตลท.ส่ง Statement แจ้งถอด EA ออกจากดัชนีหุ้นยั่งยืน SETESG
สมโภชน์ กล่าวเปิดใจหลังโดน ก.ล.ต.กล่าวโทษในกรณีร่วมกระทำทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ที่นครสวรรค์ และลำปาง ระหว่างปี 2556 – 2558 ได้รับผลประโยชน์ เป็นจำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท ว่า “ผมสร้างบริษัทด้วยเงินไม่มาก ด้วยราคาต้นทุนที่ถูกมาก และเราเติบโตมาตลอด เราทำโรงไฟฟ้า ในวันที่ไม่มีใครเชื่อว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถผลิตไฟฟ้าขายได้ เราทำโรงไฟฟ้าขนาด 90 เมกะวัตต์ ใหญ่ที่สุดในโลก โดยใช้เวลาเพียง 11 เดือน และมีผลประกอบการที่ดีตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา วันนี้ถึงทุจริต EA ก็ยังมีต้นทุนต่ำที่สุด และเราไม่เหมือน STARK แน่นอน”
สมโภชน์ กล่าวเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน และย้ำด้วยว่า EA มีความตั้งใจจริงในการสร้างธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ นับตั้งแต่ไบโอดีเซล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และธุรกิจใหม่รถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และแบตเตอรี่ หลายผลิตภัณฑ์ได้รับการจดสิทธิบัตรไปทั่วโลก เช่น Ultra Fast Charge รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าก็มีกำไรต่อเมกะวัตต์สูงสุดในตลาด ที่ทำเช่นนี้ได้เพราะ EA ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเอง “เราเติบโตด้วยนวัตกรรม” เขาย้ำ
หนี้พุ่งส่วนทางรายได้
ปัจจุบัน ธุรกิจของ EA มีรายได้หลักจาก 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจไบไอดีเซล (ประมาณ30%) 2. ธุรกิจโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน (ประมาณ60%) และ 3. ธุรกิจอื่น ๆ ที่เริ่มพัฒนามากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ โรงงานผลิตและประกอบรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และสถานีชาร์จ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อย ได้แก่ NEX และ BYD
อย่างที่ทราบว่ารายได้ของ EA มาจากธุรกิจหลักคือโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่มีกำไรเป็นกอบเป็นกำจากการขายแบบ Adder ให้กับภาครัฐ แต่ได้หมดอายุลงในช่วงปลายปี 2566 นั่นทำให้ผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2567 กำไร EA ลดลงถึง 61% จาก 2,319 ล้านบาทในปี 2566 เหลือเพียง 888 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีนี้ ขณะที่รายได้รวมลดลงจาก 8,904 ล้านบาท เหลือเพียง 6.171 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปีนี้ หรือลดลง 34%
ขณะที่หนี้สินของบริษัท จากคำพูดของสมโภชน์ อยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท ขณะที่รายงานผลประกอบการที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ EA มีหนี้ถึง 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งนี่เป็นอีกประเด็นที่ไม่ตรงกัน และตลาดหลักทรัพย์ได้ให้ EA ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับหนี้สินของ EA ณ สิ้นปี 2566 มีหนี้สินอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1. หุ้นกู้ 3.1 หมื่นล้านบาท 2. เงินกู้ระยะยาว 2.3 หมื่นล้านบาท และ 3. เงินกู้ระยะสั้น 8,00 ล้านบาท โดยมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปี 2567 รวมมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท
สำหรับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นของ EA มาจากการขยายการลงทุนในธุรกิจรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ และแบตเตอรี่ ซึ่งในไตรมาสแรกที่ผ่านมารายได้ของธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าลดลง 55% จาก 3,987 ล้านบาท เหลือเพียง 1,796 ล้านบาทในปีนี้ เพราะยอดการส่งมอบรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ลดลง 440 คัน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้
อย่างไรก็ตาม สมโภชน์ กล่าวย้ำอีกครั้งก่อนอำลาตำแหน่งว่า “ฝากถึงนักลงทุนกว่า 5 หมื่นคนที่เป็นผู้ถือหุ้น EA จะเดินต่อไป การลงทุนของ EA จะทุจริต หรือไม่ทุจริต ถึงทุจริตแล้วเรายังถูกกว่า แค่โครงการเดียว EA ถูกสุด และมีกำไรต่อเมกะวัตต์สูงสุด รายได้ยังเข้าทุกเดือน เป็นหลักพันล้าน เพราะฉะนั้น เราไม่ใช่ STARK แน่นอน บริษัทอย่างเราไม่ควรถูกบูลลี่ วันนี้ เศรษฐกิจอาจไม่ดี แต่อย่าให้ความสับสนในตลาดฯ มาทำร้ายบริษัทที่อยู่มา 20 ปี เราไม่ใช่คนพวกนั้นแน่นอน”
และความแน่นอน คือความไม่แน่นอน หุ้น EA วันนี้ (16 ก.ค.67) ปรับลดลงติดฟลอร์ที่ 9.15 หลังตลาดหลักทรัพย์ปลดเครื่องหมาย SP และเปิดให้ซื้อขายได้ จากหุ้นที่เคยแตะระดับ 100 บาท/หุ้น มาร์เก็ตแคป สูงถึงระดับ 300,000 แสนล้านบาท วันนี้หุ้น EA ร่วงลงมาต่ำสุด และยังไม่รู้ว่ามีระเบิดเวลาอะไรซ่อนอยู่อีกหรือไหม จาก Growth Story ของ EA ที่สร้างมาตลอด 20 ปี วันนี้กำลังจะเข้าสู่ End Game หรือไม่ ต้องติดตามต่อไป