20 เมษายนที่ผ่านมาคือช่วงเวลาที่เรียกกันว่า Bitcoin Halving หรือ การหั่นครึ่งบิตคอยน์ เกิดจากโค้ดที่ถูกฝังไว้ในบล็อกเชนของบิตคอยน์ให้ทุกครั้งที่มีการแก้สมการหรือที่เรียกกันว่า “ขุด” ได้สำเร็จนแต่ละบล็อก จะได้รางวัลเป็นบิตคอยน์ และเมื่อขุดครบทุก 210,000 บล็อกแล้ว รางวัลที่ได้จะลดลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะขุดให้ครบจำนวนนี้ครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณ 4 ปี โดยในปีนี้เหลือครั้งละ 3.125 เหรียญ
เมื่อยิ่งขุดไปเรื่อย ๆ ยิ่งได้น้อยลง นั่นเป็นกลไกโดยธรรมชาติให้มูลค่าของเหรียญบิตคอยน์สูงขึ้นทุกครั้งทั้งช่วงก่อนและหลังการหั่นครึ่ง ทำให้ตอนนี้ราคาของบิตคอยน์อยู่ที่ประมาณ 65,900 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.4 ล้านบาทแล้ว ยิ่งในช่วงที่มีความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์เกิดขึ้นและคนให้ความสนใจกับบิตคอยน์มากขนาดนี้ ยิ่งมีผลสำคัญต่อราคาคริปโต
แน่นอนว่ามูลค่ามหาศาลขนาดนี้มีทั้งเหมืองขนาดใหญ่ และนักขุดมากมายที่เข้าร่วมเพื่อแย่งชิงรางวัลอันล้ำค่าอย่างเหรียญบิตคอยน์ ให้ได้มาสักเหรียญก็ยังดี
เหมืองขุดบิตคอยน์ในสหรัฐอเมริกา 14 เจ้ารวมกันก็มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 21% ของเครือข่ายบิตคอยน์ทั่วโลกแล้ว แต่ในส่วนของมูลค่ากลับลดลงมา 28% ในช่วงครึ่งแรกของเดือนเมษายน ทำให้ช่วง halving เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้เหมืองรุ่งหรือร่วงได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าพวกขาเตรียมตัวมาพร้อมแค่ไหน
ซึ่งการเตรียมเหมืองให้พร้อมขุดอย่างดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องประเมินการใช้พลังงาน ซอฟต์แวร์และการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งจะพร้อมได้ก็ต้องลงทุนมหาศาล แต่แม้ว่าราคาบิตคอยน์ที่สูงขึ้นจะช่วยลดความเสี่ยงสำหรับนักขุดในตลาดหุ้นได้ได้ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบหากบิตคอยน์ราคาตกลง ก็จะเป็นรายที่แบกต้นทุนสูงกว่า
การมีเครื่องขุดที่ดีอย่างเดียวจะกลายเป็นข้อด้อย นั่นทำให้ตลอดเวลา 4 ปีก่อน halving หลาย ๆ รายพยายามหาวิธีที่จะลดต้นทุนค่าพลังงานและอัปเกรดเครื่องขุดที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ท้ายที่สุดแล้วจะมีต้นทุนต่อเหรียญที่ถูกลง และนั่นจะทำให้พวกเขายืดหยุ่นเรื่องเงินทุนมากขึ้น ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า Bitdeer เป็นบริษัทที่ทำต้นทุนต่อเหรียญได้ประหยัดที่สุด
แต่การสร้างรายได้จาการขุดอย่างเดียวนั้นไม่ยั่งยืน และคุ้มค่าพอจะลงทุนทรัพยากรมหาศาล ทำให้หลายเหมืองก็จำเป็นที่จะต้องสร้างรายได้ทางอื่นเพิ่ม นอกจากการขุดเหรียญล้วน รวมถึงก่อน halving ปีนี้ก็ยังมีเหมืองและนักขุดใหม่ ๆ เข้ามาในอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะมีหลากหลายประเทศที่มีพลังงานเหลือใช้ และพร้อมลงทุนกับการขุด
อย่าง Marathon Digital ก็เพิ่งจะเปิดตัวแผนกเก็บเกี่ยวพลังงานตกค้าง แปลงก๊าซมีเทนและชีวมวลเหลือทิ้งเป็นพลังงาน ซึ่งจะขายกลับสู่ภาคพาณิชย์และอุตสาหกรรม เข้ามาช่วยชดเชยต้นทุนในการขุดให้น้อยลงมาก และบริษัทยังคาดหวังว่าจะเป็นแหล่งรายได้ที่มากขึ้นของบริษัทด้วยในช่วง halving ปี 2028
อีกอย่างที่เติบโตไปพร้อมกับบิตคอยน์คือระบบนิเวศน์ของมัน ซึ่งรวมถึงการเก็บค่าธรรมเนียมการโอน ซึ่งเป็นอีกแหล่งรายได้ของบรรดาบริษัทเหมือง ซึ่งแม้ว่าจำนวนบล็อกจะมีอยู่จำกัดแต่ความต้องการที่มากขึ้นจะทำให้มูลค่าของมันยิ่งสูงไปเรื่อย ๆ จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นวอลเล็ตต่าง ๆ DeFi หรือความต้องการในการแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ของสถาบันการเงิน เหมืองที่ให้บริการหลากหลายรวมถึงการชำระบัญชีอัตโนมัติจะสามารถสร้างรายได้จากส่วนนี้ได้ แต่ถึงอย่างไร รายได้จากค่าธรรมเนียมก็คงไม่ได้ยั่งยืนมากพอ เพราะมีแนวโน้มจะเป็นวัฏจักร เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงตามความต้องการ ก็อาจชดเชยรายได้ส่วนที่หายไปหลัง halving ไม่พออยู่ดี
นอกจากนี้การปรับเครื่องขุดไปใช้ประมวลผล AI ก็เหมือนจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะอะไรอีกล่ะที่จะต้องการอุปกรณ์ประมวลผลประสิทธิภาพสูง ผู้จัดการกองทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง CoinShare ก็คาดหวังให้เหมืองปรับตัวสู่ AI มากขึ้น เพราะมีโอกาสสร้างรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งหลายรายได้เริ่มปรับตัวแล้ว ทั้ง BitDigital, Hive, Hut 8, Terawfulf, และ Core Scientific
แต่จะทำแบบนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความต้องการของระบบศูนย์ข้อมูลและเครือข่ายข้อมูลนั้นแตกต่างกัน รวมถึงทักษะของพนักงานเองด้วย และเครื่องขุดบิตคอยน์นั้นก็ออกแบบมาอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อแก้สมการบล็อก ไม่ใช่เพื่อการประมวลผผลหรือใช้งานด้านอื่น หมายความว่าถ้าจะเอาแบบนี้จริง ๆ ต้องนับหนึ่งใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่พวกเขาต้องลงทุนกับมันมากขึ้น ซึ่ง Core Scientific บอกว่าทั้งการลงทุนในคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงและ AI ได้ผลตอบแทนกลับมานับ 100 ล้านดอลลาร์ และมากกว่านี้ได้อีกตามประสิทธิภาพของ GPU ตัวใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในตลาด
โดยสรุปแล้ว หลังจบ halving บริษัทเหมืองต่าง ๆ อาจต้องหาวีธีสร้างรายได้อื่น ๆ มากกว่าแค่บิตคอยน์ที่ลงทุนไปสูงมาก อาจเป็นด้วยการเก็บเกี่ยวพลังงาน เก็บค่าธรรมเนียมในการให้บริการระบบต่าง ๆ ของบิตคอยน์ รวมถึงการปรับตัวสู่ AI และคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง แต่นั่นก็ต้องอาศัยความพร้อมที่ต้องลงทุนมากขึ้นอีก